“จะรับมืออย่างไร เมื่อสัตว์ถูกงูกัด”

41128 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“จะรับมืออย่างไร เมื่อสัตว์ถูกงูกัด”

“จะรับมืออย่างไร เมื่อสัตว์ถูกงูกัด”

น้องปิ๊ก เป็นสุนัขพันธ์ผสม เพศเมีย อายุ 7 เดือน เจ้าของเล่าให้ฟังว่าเมื่อวานน้องปิ๊กและสุนัขตัวอื่นๆได้รุมกัดงูเห่าที่เข้ามาในบริเวณบ้านช่วงเย็น  ซึ่งภายหลังจากนั้นก็ไม่พบว่ามีสุนัขตัวไหนมีอาการผิดปกติหรือมีบาดแผลที่โดนกัดเลย น้องปิ๊กและสุนัขตัวอื่นๆนอนอยู่ภายนอกตัวบ้าน พอตอนเช้าเจ้าของจึงออกมาเจอว่าน้องปิ๊กนอนไม่รู้สึกตัว แต่ยังคงหายใจอยู่ ส่วนตัวอื่นปกติดี เจ้าของจึงรีบพาน้องปิ๊กเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ททันที


การตรวจร่างกายและการรักษา

จากการตรวจร่างกาย พบว่า น้องปิ๊กนอนหมดสติไม่รู้สึกตัว สัญญาณชีพต่างๆ ได้แก่ ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร ไม่คงที่ หายใจหอบเร็วและกระแทก ม่านตาตอบสนองต่อแสงไฟช้ากว่าปกติ บริเวณใต้คางบวมมาก และมีร่องรอยของแผลลักษณะคล้ายเขี้ยวงู

สัตว์แพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการให้ออกซิเจน ให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ ให้ยาแก้แพ้ และเริ่มให้เซรุ่มงูเห่าเข้าทางหลอดเลือดดำ ทำการล้างบริเวณปากแผลด้วยน้ำเกลือปริมาณมากเพื่อเอาพิษที่อาจหลงเหลืออยู่ที่ปากแผลออกให้หมด นอกจากนี้ยังให้ยาลดปวด ลดบวมอักเสบ และยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากตำแหน่งรอยกัด มีการมอร์นิเตอร์สัญญานชีพเป็นระยะ ซึ่งกว่าจะกลับมาคงที่และอยู่ในเกณฑ์ปกติก็อีกหลายชั่วโมงถัดมา น้องปิ๊กเริ่มรู้สึกและมีปฏิกิริยาตอบรับเมื่อการรักษาให้ยาและน้ำเกลือผ่านพ้นไปแล้วเกือบ 24 ชั่วโมง เริ่มจากกระพริบตาได้ เลียกลืนน้ำได้ ผงกหัว และพยุงตัวลุกขึ้นนอนหมอบ จนกลับมาเป็นเกือบปกติในอีกสองวันถัดมา จากผลการตรวจค่าเลือดพบมีค่าที่บ่งชี้การทำงานของตับสูงขึ้นกว่าค่าปกติ ซึ่งเกิดจากกระบวนการกำจัดสารพิษจากร่างกาย


เกร็ดความรู้

ในกรณีของน้องปิ๊ก เป็นความโชคดีที่เจ้าของพาเข้ามารับการรักษาได้ทันอย่างหวุดหวิด ซึ่งปกติแล้วพิษของงูเห่าจะออกฤทธิ์ค่อนข้างรุนแรง มีผลต่อระบบประสาททำให้เกิดภาวะอัพพาตทั่วร่างกาย ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งถ้ากล้ามเนื้อกะบังลมไม่ทำงาน จะทำให้สุนัขไม่สามารถหายใจได้เอง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยที่ความรุนแรงของอาการก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแรง-สุขภาพของสุนัข และปริมาณพิษที่ได้รับด้วย ในส่วนของน้องปิ๊ก อาจได้รับพิษปริมาณไม่เยอะ เพราะหากได้รับพิษเต็มๆมีโอกาสสูงมากที่จะเสียชีวิตไปแล้วก่อนที่เจ้าของจะมาพบ

แนะนำให้เลี้ยงสุนัขในบริเวณที่มีความปลอดภัย หรือภายในบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางคืน เพราะเจ้าของอาจไม่ได้สังเกตเห็น หรือหากเจ้าของเห็นแล้วว่าสุนัขมีโอกาสเสี่ยงที่จะโดนกัด ก็แนะนำให้พามาดูอาการที่โรงพยาบาลสัตว์ทันที เพราะถ้าสุนัขได้รับพิษเป็นเวลานานเกินไป และสัตวแพทย์ไม่สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที อาจส่งผลทำให้สัตว์เลี้ยงมีอันตรายถึงชีวิตได้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัตว์เลี้ยงถูกแมลงสัตว์กัดต่อยที่เจ้าของทำได้เองที่บ้าน คือ การล้างด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างแผล หรือน้ำเปล่าที่สะอาด เพื่อเอาคราบสารพิษออกจากปากแผลให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นควรรีบพาสัตว์เลี้ยงมาพบกับสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด และหากสัตว์เลี้ยงโดนงูกัด สิ่งที่ช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จได้มากอย่างหนึ่งคือ เจ้าของสามารถบอกได้ว่าเป็นงูอะไร หรือนำสัตว์มีพิษชนิดนั้นมาให้ดูด้วย (อาจถ่ายรูปมาก็ได้ ไม่ต้องเอาตัวเป็น ๆ มาก็ได้ค่ะ) เนื่องจากงูแต่ละชนิดก็มีพิษที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งแนวทางในการรักษาแก้ไข เช่นให้เซรุ่มก็แตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของงูด้วย


เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ.วรัญญา กิจสาสน
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้