น้องขนมตาล ตาบอดทั้งสองข้าง

2756 Views  | 

น้องขนมตาล ตาบอดทั้งสองข้าง

น้องแมวขนมตาลมาตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์ iVET ด้วยอาการสงสัยว่าตาบอด ก่อนหน้านี้รักษาอยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่งด้วยอาการปากเจ็บ ซึม กินน้อย เจ้าของเลี้ยงขนมตาลแบบปล่อย ในบ้านมีแมวที่เลี้ยงรวมกันจำนวนหลายตัว โดยเป็นแมวที่อุปการะมา เมื่อมาพบคุณหมอเวรที่รพส. iVET อาการของน้องไม่สู้ดีนัก คุณหมอจึงได้ให้ฝากรักษาเป็นสัตว์ป่วยใน และรอตรวจกับคลินิกโรคตา

จากการตรวจตา พบว่าขนมตาลตาบอดทั้งสองข้าง ความดันตาต่ำกว่าปกติ มีเลือดออกบนจอประสาทตา บ่งบอกถึงอาการจอประสาทตาอักเสบ และมีจอประสาทตาล้มร่วมด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ขนมตาลตาบอด ประเมินผลการตรวจจากคลินิกโรคตา และคุณหมออายุรกรรม สาเหตุของอาการตาบอดของขนมตาล มีโอกาสที่อาจเกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นเอดส์แมว ลิวคีเมีย หรือโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ นอกจากนี้คุณหมออายุรกรรมเวรสัตว์ป่วยในได้เจาะเก็บน้ำในช่องท้องของขนมตาลที่มีการตรวจเจอเพิ่มในระหว่างฝากรักษาเพื่อส่งตัวอย่างตรวจวินิจฉัยกับห้องปฏิบัติการณ์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันโรคที่สงสัย เพียง 4 วันหลังจากเริ่มรักษาที่รพส. iVET ด้วยอาการป่วยที่มากขึ้น และสาหัสมากขึ้นในทุกวัน สุดท้ายน้องขนมตาลก็ได้จากไปอย่างสงบ ตามความประสงค์ของเจ้าของ

อาการตาบอดเนื่องจากจอประสาทตาอักเสบ (Chorioretinitis) จอประสาทตาล้ม (Retinal detachment) และยูเวียอักเสบ (Uveitis) เป็นอาการหนึ่งที่เจอได้ ในโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสในแมว ไม่ว่าจะเป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline Infectious Peritonitis; FIP) โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus ; FIV) หรือโรคลิวคีเมีย (Feline Leukemis Virus ; FeLV) การอักเสบที่เกิดขึ้นบนเส้นเลือดของจอประสาทตา และจอประสาทตา จะทำให้มีเลือดออก เกิดการอักเสบ และมีจอประสาทตาล้มตามมา และทำให้ตาบอดในที่สุดเมื่ออาการรุนแรงขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้น โรคติดเชื้อเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ตาอักเสบ หรือตาบอด แต่อาการที่เกิดขึ้นกับทั้งระบบร่างกาย อาจส่งผลให้อาการของแมวแย่ลงจนถึงแก่ชีวิตได้ 

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล หรือสำเร็จ และไม่มีวัคซีนที่ป้องกันได้ 100% สำหรับโรคที่ได้กล่าวไปข้างต้น แม้จะเป็นวิธีที่มีรายงานการศึกษามากขึ้น หรือมียาหลายชนิดที่เป็นทางเลือกมากขึ้น แต่ก็อาจหมายถึงความเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ หรือราคาค่ารักษาที่อาจไม่ได้จับต้องได้สำหรับเจ้าของแมวทุกคน ปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ยังเป็นเรื่องสำคัญคือ การเลี้ยงแมวอย่างหนาแน่น เลี้ยงแมวที่มีที่มาที่ไม่ชัดเจน เป็นแมวเก็บมา หรือเลี้ยงแมวในระบบเปิด เหล่านี้เป็นสิ่งที่เจ้าของแมวจะต้องพิจารณา เนื่องจากเป็นจุดที่ทำให้แมวได้รับเชื้อไวรัส และมีการกระจายติดต่อของไวรัสไปยังแมวตัวอื่นๆในบ้านได้ นำมาซึ่งการสูญเสีย เมื่อเกิดการแสดงอาการของโรคขึ้น สำหรับเจ้าของที่เลี้ยงแมวย่อมเข้าใจถึงความรุนแรงถึงโรคที่กล่าวไปได้ดี การเลี้ยงแมวอย่างถูกวิธี หมั่นสังเกตอาการ ดูแลอย่างใกล้ชิด ป้องกันโรคต่างๆตามโปรแกรม รวมไปถึงนำน้องๆมาพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หรือทันทีที่มีอาการป่วยผิดปกติ ก็จะสามารถป้องกัน และลดการสูญเสียที่กล่าวมาได้ครับ

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy