19835 Views |
"น้องไพริน กับบางสิ่งในช่องท้อง"
ไพริน คือสุนัขพันธุ์ไทย อายุ 1 ปี เพศเมียยังไม่ทำหมัน เป็นสุนัขที่เลี้ยงในบริษัทของคนที่พามา สงสัยว่าจะโดนรถชนมา 2 วัน วันนี้เริ่มมีอาการซึม ไม่ทานอาหาร ไม่เห็นการขับถ่าย กำจัดเห็บหมัดเป็นประจำทุกเดือน
การตรวจร่ายกาย และการวินิจฉัย
เมื่อเข้ามาในห้องตรวจ สุนัขมีอาการซึม แต่สามารถเดินได้ดี พบอาการกะเผลกขาหลังขวาเล็กน้อย เมื่อทำการตรวจระบบกระดูกกล้ามเนื้อ สุนัขไม่ค่อยยอมให้ยืดบริเวณสะโพก การตอบสนองระบบประสาทปกติดี นอกจากนี้มีอาการปวดเกร็งช่องท้องด้านท้าย พบมีเห็บอยู่ตามตัว สุนัขยังไม่อาเจียน และไม่มีไข้
สัตวแพทย์จึงทำการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลเลือดพบว่าสุนัขมีภาวะเกร็ดเลือดต่ำ แต่ตรวจไม่พบตัวพยาธิเม็ดเลือด จากนั้นจึงเอ็กซ์เรย์ที่ข้อสะโพกสองข้าง และช่องท้อง
ผลเอ็กซ์เรย์ ไม่พบกระดูกหัก แต่พบวัตถุทึบรังสีขนาดประมาณ 2 x 2 x 2 ลูกบาศก์เซนติเมตร เป็นวัตถุคล้ายกระดิ่งห้อยคอในลำไส้เล็กที่ช่องท้องฝั่งซ้าย ลำไส้เส้นบริเวณอื่น ๆ เริ่มมีแก๊สสะสม ทั้งในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่
เมื่ออัลตร้าซาวน์ เพื่อดูลักษณะการอุดตัน และผนังลำไส้ ผลปรากฏว่า ลักษณะลำไส้ยังปกติดี ไม่พบอาการขยายใหญ่หรือลักษณะของการอุดตันในลำไส้ จึงพิจารณา ให้เอ็กซ์เรย์อีกครั้งในเช้าวันต่อมา
ผลเอ็กซ์เรย์พบว่า กระดิ่งได้มีการเคลื่อนไปยังลำไส้ใหญ่ กำลังจะออกทางลำไส้ใหญ่ โดยขนาดของกระดิ่งสามารถผ่านทางเดินอาหารและกระดูกเชิงกรานได้
การวางแผนการรักษา
สัตวแพทย์จึงช่วยล้วงอุจจาระ และสวนล้างทวารหนัก เดชะบุญ ที่สัตวแพทย์สามารถล้วงกระดิ่งออกมาได้ และลำไส้ของสุนัขก็บีบตัวช่วยดันกระดิ่งออกมาได้ดี ไม่ต้องทำการผ่าตัดออก หลังจากเอากระดิ่งออกมาได้ สุนัขมีอาการสบายตัวมากขึ้น ทานอาหารได้ดี
สัตวแพทย์ให้ยาลดปวด และยาเคลือบทางเดินอาหารเพื่อลดการอักเสบในทางเดินอาหาร และเมื่อทำการตรวจเลือดซ้ำ พบว่าเกล็ดเลือดกลับมาปกติ ซึ่งอาจเป็นเพราะช่วงแรกมีการอักเสบของร่างกาย หรือมีบาดแผลในลำไส้จากวัตถุแปลกปลอม ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ไพรินได้ถูกล้วงเอาวัตถุแปลกปลอมออกจากลำไส้ได้แล้ว สัตวแพทย์จึงอนุญาตให้สุนัขกลับบ้าน และยังนัดกลับตรวจติดตามอาการ และตรวจเลือดซ้ำต่อเนื่อง
เกร็ดความรู้จากคุณหมอ
พบสิ่งแปลกปลอมในลำไส้ เมื่อไหร่จะผ่าตัด หรือไม่ต้องผ่า?
เอ็กซ์เรย์คือเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยอวัยวะสำคัญในร่างกายได้อย่างดีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลักการทำงานคล้ายกับการถ่ายภาพ โดยรังสีเอ็กซ์ทะลุทะลวงเข้าอวัยวะต่าง ๆ แล้วแสดงผลออกมาเป็นภาพถ่าย
หลายครั้งที่สัตว์ที่มาด้วยอาการปวดท้อง มีอาการอาเจียน ไม่ถ่ายอุจจาระหรือแม้แต่เจ้าของเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ว่าสัตว์ทานสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เมื่อถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์พบวัตถุประหลาดในทางเดินอาหาร มีได้หลากหลายอย่าง เช่นตุ๊กตาเป็ดยาง ก้อนหิน เข็ม เหล็ก กระดุม เป็นต้น เมื่อไหร่ก็ตามที่วัตถุประหลาดเป็นวัตถุทึบรังสี เช่น เหล็ก ยางที่หนา พลาสติกที่อัดแน่นบางประเภท หรือมีขนาดใหญ่ ก็จะสามารถเห็นภาพจากฟิล์มเอ็กซ์เรย์ได้ชัดเจน ทั้งขนาด รูปร่างและการวางตัว รวมถึงตำแหน่งในทางเดินอาหาร ซึ่งจะทำให้สัตวแพทย์พิจาณาได้ว่า วัตถุเหล่านั้นสามารถออกเคลื่อนออกมาเองโดยการบีบตัวของลำไส้ได้หรือไม่ โดยพิจาณาจากรูปร่างที่โค้งมน ไม่มีส่วนแหลม หรือมุมที่จะบาดจนทางเดินอาหารทะลุ และมีขนาดเล็กเพียงพอที่จะออกมาได้ (ทางเดินแต่ละส่วนจะมีความยืดหยุ่นขยายขนาดได้ไม่เท่ากัน และมีขีดจำกัดในการขยายตัว หรือบางตำแหน่งวัตถุอาจเคลื่อนผ่านไปไม่ได้)
เมื่อไหร่ก็ตามที่พบแล้วว่าวัตถุนั้นอันตรายเกินกว่าจะให้เคลื่อนออกมาเอง หรือไม่น่าจะออกมาได้เอง หรือมีความเสี่ยงจะทำให้ลำไส้มีบาดแผลจนทะลุเข้าช่องว่างในท้อง เครื่องมือที่ชื่อว่าอัลตร้าซาวน์จะเป็นเครื่องมีที่ช่วยวินิจฉัยภาวะลำไส้อักเสบ อุดตัน หรือมีการอักเสบของทางเดินอาหารได้ดี หลังจากนั้น จึงพิจารณาทำการผ่าตัดทางเดินอาหารเพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออกมาโดยด่วน
หากแต่มีวัตถุบางอย่างที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยการเอ็กซ์เรย์ธรรมดา เช่น ผ้า เชือก ด้าย พลาสติก เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยการซักประวัติจากเจ้าของโดยละเอียด และการตรวจร่างกายทีแม่นยำของสัตวแพทย์ เมื่อฟิล์มเอ็กซ์เรย์อาจบอกได้เพียงว่ามีแก๊สสะสมที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของทางเดินอาหาร สัตวแพทย์อาจส่งป้อนแป้งทึบรังสีเพิ่มเติมเพื่อดูว่าแป้งนั้นสามารถไหลไปตามทางเดินอาหารได้หรือไม่ และผ่านจุดที่มีการอุดตันได้หรือไม่ การป้อนแป้งเป็นการช่วยระบุตำแหน่งของการอุดตัน ว่าอยู่ส่วนไหนในทางเดินอาหาร หากจะให้ละเอียดเพิ่มขึ้น การอัลตร้าซาวน์จะสามารถช่วงพยากรณ์ว่าลำไส้มีการบวมอักเสบมากน้อยเพียงใด และเป็นการอุดตันโดยสิ่งแปลกปลอมจริงหรือไม่ หรือเป็นการอักเสบและหนาตัวของลำไส้มากจนทางเดินอาหารตีบตันจากตัวลำไส้เอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมด เห็นได้ชัดว่า เอ็กซ์เรย์และอัลตร้าซาวน์เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้สัตวแพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของโรค และช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ต้องอาศัยประวัติการเลี้ยงดูจากเจ้าของให้ละเอียดที่สุด จะทำให้สัตวแพทย์มีข้อมูลที่มากเพียงพอที่จะค้นหาสาเหตุการป่วยของสัตว์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ. สุพัตรา จันทร์โฉม
สัตวแพทย์เจ้าของไข้