ถั่วแปลบขึ้นมาทันที มีแผลใช่ไหมแบบนี้

11564 Views  | 

ถั่วแปลบขึ้นมาทันที มีแผลใช่ไหมแบบนี้

"ถั่วแปลบขึ้นมาทันที มีแผลใช่ไหมแบบนี้"



ประวัติสัตว์ป่วย

แมวชื่อ ถั่วแปลบ อายุ 4 เดือน พันธุ์เปอร์เซียผสม ยังทำวัคซีนไม่ครบ มีแผลที่บริเวณหน้า ไม่ทราบว่าโดนอะไรมา เจ้าของเลี้ยงแมวหลายตัวและอาจเล่นหรือกัดกัน เพิ่งพบแผลวันนี้ จึงพามาโรงพยาบาล



การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

สัตว์แพทย์และพยาบาลทำการโกนขนรอบ ๆ แผลที่โหนกแก้มข้างขวา พบว่าเป็นถุงฝีขนาด2 เซนติเมตร มีน้ำหนองปนเลือดกลิ่นเหม็นปะทุออกมา พบว่าบาดแผลเป็นโพรง ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ แต่เข้าไปกัดกินเบ้าตา เมื่อเปิดดูในช่องปากด้านในพบว่ายังปกติดี ไม่มีแผลทะลุเข้าช่องปาก เนื่องจากบริเวณใบหน้าและโหนกแก้ม ยังมีเส้นประสาทและเส้นเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าหลายเส้น สัตวแพทย์จึงทำการตรวจระบบประสาท โดยพบว่า การตอบสนองของกล้ามเนื้อใบหน้า การกระพริบตา ยังเป็นปกติดี แผลฝีที่โหนกแก้ม น่าจะมีมาประมาณ 2 – 3 วัน แต่ยังไม่ทำลายกระดูกและเส้นประสาท จึงถือว่าเป็นโชคดีของแมวถั่วแปลบที่มีเพียงแผลฝีบนโหนกแก้มชั้นผิวหนัง สาเหตุอาจเกิดได้หลายอย่าง เช่นถูกกัดเป็นแผลเกิดการสะสมของเชื้อ และมีการอักเสบในโพรงแผล จนปะทุออกมาเป็นฝีนั่นเอง



การวางแผนการรักษา

หลังจากที่สำรวจบาดแผลแล้ว สัตวแพทย์จึงทำการล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาดเบา ๆ จนกระทั่งโพรงแผลสะอาดไม่มีหนองขังเหลือ จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ในแผลแล้วปิดแผล พิจารณารักษาแบบแผลเปิด เนื่องจากแผลสกปรกเป็นมาหลายวัน และปากแผลกว้าง ผิวหนังบริเวณหน้าค่อนข้างตึง ไม่สามารถดึงขอบแผลมาบรรจบกันได้ นอกเหนือจากนี้ ทำการฉีดยาฆ่าเชื้อและลดปวดลดอักเสบให้ พร้อมจ่ายยาชนิดเม็ดให้เจ้าของกลับไปป้อนที่บ้านต่อเนื่อง

สัตวแพทย์นัดถั่วแปลบกลับมาล้างแผลทุกวัน  ซึ่งปรากฏว่าการทำแผลทุกวันผ่านไปเพียง 4 วัน แผลของถั่วแปลบตอบสนองต่อการรักษาอย่างดี แผลตื้นขึ้นไม่มีหนอง มีเนื้อชมพูเจริญขึ้นมาทดแทนโพรงแผลที่บริเวณโหนกแก้ม เนื่องจากเจ้าของสามารถให้ยาได้ครบ ถั่วแปลบทานอาหารได้ดี และเจ้าของหมั่นเอาใจใส่พาน้องถั่วแปลบมาพบสัตวแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เคสนี้ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จในการรักษาอย่างสมบูรณ์



เกร็ดความรู้จากคุณหมอ

การป้อนยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อให้ครบตามกำหนดสำคัญไฉน ??

ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ มีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในคนและสัตว์ ด้วยวิทยาการก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยาปฏิชีวนะสามารถช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รอดพ้นจากภาวะติดเชื้อโรค (ในที่นี้ ยาปฏิชีวนะ คือยาที่ควบคุมหรือฆ่าเชื้อชนิดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น) ยาปฏิชีวนะจึงมีการวิจัยและสังเคราะห์ออกมาใหม่ ๆ เสมอ เชื้อโรคก็เช่นกัน มีการปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงพัฒนาไปถึงระดับยีนส์ของตัวเองไปให้รุ่นลูกหลานเพื่อให้ทนทานต่อยาปฏิชีวนะได้มากขึ้น แกร่งขึ้น  เหตุผลหลากหลายมากว่าทำ เชื้อโรคต่าง ๆ จึงเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะ ยกตัวอย่างเช่น การได้รับยาฆ่าเชื้อไม่ต่อเนื่อง เช่นทาน 2 วันแล้วหยุดยาเอง หรือทานไม่ต่อเนื่อง เช่นทานเป็นบางมื้อ ให้ยาไม่ได้ เชื้อในทางเดินอาหารหรือร่างกายก็ปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะระดับยาฆ่าเชื้อไม่คงที่เพียงพอที่จะยับยั้งเชื้อนั้น เป็นต้น ซึ่งการดื้อยานี้อาจนำมาซึ่งความเสียหายของมวลมนุษยชาติได้ในอนาคตหากไม่สามารถหายาที่ฆ่าและคุมการติดเชื้อแบคทีเรียที่พัฒนาตัวเองจนดื้อยาทุกตัวที่มีบนโลกใบนี้

ฉะนั้นการทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ถึงแม้ว่าอาการจะดีขึ้นหรือหายก่อนที่ยาจะหมดหรือครบที่แพทย์จ่าย ควรจะต้องทานยาให้จบคอร์สการรักษา โดยปกติประมาณ 5-7 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการและโรคที่เป็น เพื่อป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะในอนาคต

เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ. สุพัตรา จันทร์โฉม
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy