โรคติดเชื้อหัดแมว (Feline Panleukopenia Virus)

23471 Views  | 

โรคติดเชื้อหัดแมว (Feline Panleukopenia Virus)

โรคติดเชื้อหัดแมว (Feline Panleukopenia Virus)
น้องกุชชี่ แมวไทย เพศผู้ อายุประมาณ 6 เดือน ไม่เคยได้รับวัคซีนใดๆมาก่อน เจ้าของแจ้งว่าที่บ้านมีแมวหลายตัว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แมวตัวอื่นๆภายในบ้านทยอยป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสหัดแมว (Feline Panleukopenia Virus ; FPV) และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท โดยมีแมวตัวหนึ่งที่อาการป่วยดีขึ้นแล้วและเจ้าของเพิ่งรับกลับบ้านไป จากนั้นเวลาต่อมาน้องกุชชี่ก็เริ่มแสดงอาการซึม อ่อนแรง ไม่ทานอาหาร แสดงอาการอาเจียน 1 ครั้งเป็นก้อนขน ส่วนเรื่องอุจจาระนั้นเจ้าของยังไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร
ภายหลังจากที่เจ้าของเริ่มสังเกตพบความผิดปกติดังกล่าว เจ้าของจึงรีบพาน้องกุชชี่มาเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทเช่นเดียวกับแมวตัวอื่นๆก่อนหน้า จากการตรวจร่างกายหมอพบว่าน้องกุชชี่มีอาการซึม อ่อนแรง ตามที่เจ้าของแจ้งอาการไว้ข้างต้น ร่วมกับมีอาการอาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำตลอดเวลาและมีกลิ่นคาวรุนแรง ผิวหนังเหี่ยวแห้งน้ำ เหงือกซีด อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติ ชีพจรเต้นอ่อน แสดงถึงภาวะช็อคจากการขาดน้ำอย่างรุนแรง (Hypovolumic shock) หมอจึงตัดสินใจให้น้ำเกลือเข้าทางกระแสเลือดทันทีเพื่อรักษาภาวะช็อคจากการขาดน้ำก่อน
ภายหลังจากการเก็บตัวอย่างเลือดและอุจจาระเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม หมอพบว่าทั้งระดับเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดของน้องกุชชี่ลดต่ำลงอย่างผิดปกติ ร่วมกับตรวจพบเชื้อไวรัสจากอุจจาระเป็นเชื้อไวรัสหัดแมว หรือ FPV เช่นเดียวกับแมวตัวอื่นๆในบ้านที่ป่วยก่อนหน้า หมอจึงได้แนะนำเจ้าของให้ฝากน้องกุชชี่รักษาไว้ที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท เพื่อที่หมอจะสามารถให้ยาปปฏิชีวนะและยาลดอาเจียนเข้าทางกระแสเลือด ร่วมกับเริ่มฉีดยากระตุ้นภูมิคุ้มกันให้น้องกุชชี่ทันทีในวันแรกที่ตรวจพบเชื้อไวรัส
ภายหลังจากที่น้องกุชชี่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเพียง 2 วัน น้องกุชชี่ก็เริ่มกลับมาทานอาหารเองได้บ้าง ไม่แสดงอาการอาเจียน แต่ยังมีถ่ายเหลวเป็นครั้งคราว ในวันที่สามหมอจึงค่อยๆถอดยาลดอาเจียนออกและปรับยาชนิดอื่นๆเป็นยากินแทน พบว่าน้องกุชชี่สามารถป้อนยากินได้โดยไม่แสดงอาการอาเจียน อีกทั้งยังมีการขับถ่ายอุจจาระเป็นก้อนปกติ จากการตรวจเลือดวัดปริมาณเม็ดเลือดน้องกุชชี่ในวันที่ห้าภายหลังจากการรักษาพบว่า ค่าเม็ดเลือดขาวเริ่มกลับมาสูง ร่วมกับค่าเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมแสดงถึงแนวโน้มที่ร่างกายน้องกุชชี่มีการตอบสนองต่อการรักษาไปในทิศทางที่ดี
หลังจากหมอแน่ใจแล้วว่าน้องกุชชี่สามารถกินอาหารได้เอง พร้อมทั้งป้อนยากินแล้วไม่แสดงอาการอาเจียน หมอจึงอนุญาติให้เจ้าของพาน้องกุชชี่กลับไปป้อนยาที่บ้านได้และย้ำเตือนเรื่องที่เจ้าของจำเป็นจะต้องแยกน้องกุชชี่ออกจากฝูงแมวตัวอื่นๆเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่น้องแมวยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสในตัวเองออกสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางอุจจาระของตัวเองได้อยู่แม้ว่าตัวน้องแมวเองจะไม่แสดงอาการป่วยแล้วก็ตาม
จากนั้นหมอจึงนัดติดตามอาการน้องกุชชี่อย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนพบว่าน้องกุชชี่หายเป็นปกติแล้ว หมอจึงได้วางแผนทำโปรแกรมวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสให้น้องกุชชี่ในลำดับถัดไป

#TrustiVET

 

----------------------------
โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท เปิดบริการ 24 ชม.
ตอบทุกปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง..จากสัตวแพทย์โดยตรง
Line : @ivethospital >> http://bit.ly/2UHSsXK
Hotline : 085-244-7899
Website : www.ivethospital.com

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy