3616 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อมูลสัตว์ป่วย
เจ้าชิสุห์ผสมพุดเดิลตัวจิ๋ว ชื่อลัก อายุ 2 ปี รูปร่างท้วมสวบูรณ์ คุณแม่น้องลักแจ้งว่าน้องกระโดดขึ้นลงเตียงเป็นปกติ อยู่ๆ วันนี้ร้องเจ็บ และยกขาเดิน จากนั้นไปนอนขดใต้ที่นอนไม่ยอมออกมา ซึมเศร้า
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
จากการตรวจร่างกาย ไม่พบการหักของกระดูก จับตามกล้ามเนื้อไม่พบการร้องเจ็บ สามารถเดินใช้ขาหลังข้างซ้ายได้เป็นบางจังหวะ ตรวจพบกระดูกอ่อนสะบ้าเคลื่อนที่หัวเข่าข้างซ้าย แต่ยังเป็นอยู่ในระดับต้นๆ เท่านั้น การตรวจเลือดไม่พบค่าความผิดปกติใด ๆ
การรักษา
คุณหมอจึงพิจารณาให้ยาลดอักเสบ 3 วัน หลังจากได้รับยา น้องลักไม่แสดงอาการร้องเจ็บ และซึมอีก กลับมาวิ่งเล่นร่าเริงตามปกติ แต่น้องลักเริ่มมีภาวะน้ำหนักเกิน เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดภาวะข้อสะบ้าเคลื่อนได้อีกในอนาคต สัตวแพทย์ จึงพิจารณาให้ว่ายน้ำเพื่อลดน้ำหนักร่วมด้วย นอกจากนี้การว่ายน้ำช่วยสร้างให้น้ำไขข้อในกระดูกเพื่อการหล่อลื่นและลดอาการอักเสบในข้อเนื้อจากการเสียดสีของกระดูกได้ดี
ความรู้เพิ่มเติมและคำแนะนำ
ภาวะโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข เป็นความผิดปกติของข้อหัวเข่า ที่มักพบในสุนัขพันธุ์เล็ก อาจเป็นแต่กำเนิด หรือเป็นภายหลังจากการกระทบกระแทก แบ่งตามระดับความรุนแรงเป็น 4 ระดับ คือ
ระดับที่1: สะบ้าเคลื่อนออกจากตำแหน่งขณะใช้มือดันออก แต่พอปล่อยมือจะกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติ สุนัขจะยกขาในจังหวะที่สะบ้าเคลื่อนออก
ระดับที่2: การเคลื่อนของสะบ้าจะเกิดขึ้นบ่อย พบการกร่อนของสะบ้าและกระดูกที่สะบ้าเกิดการเสียดสี
ระดับที่3: สะบ้ามักเคลื่อนหลุดตลอดเวลา มักมีการบิดของกระดูกหน้าแข้งเกิดขึ้นด้วย มักพบว่าสุนัขจะไม่สามารถเหยียดขาได้เต็มที่ สุนัขจะแสดงอาการเดินผิดปกติและเจ็บขา
ระดับที่4: สะบ้าเคลื่อนออกจากตำแหน่งอย่างถาวร สุนัขมักเจ็บขาอยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถเหยียดข้อเข่าได้
ปัจจัยโน้มนำและปัจจัยที่ทำให้โรคพัฒนาไปเร็วขึ้นคือ การเลี้ยงบนพื้นลื่น และภาวะอ้วน ดังนั้นการจัดการกับกรณีที่สุนัขเป็นภาวะสะบ้าเคลื่อนในระยะต้นๆ นั้น จำเป็นต้องจำกัดบริเวณ งดการวิ่งเล่นบนพื้นลื่น และทำการลดน้ำหนักร่วมด้วย หากโรคดำเนินไปมาก สุนัขจะต้องได้การผ่าตัดแก้ไขร่วมด้วย และอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหลังผ่าตัด