น้อง เหลือง อายุ 10 ปี พันธุ์ ไทย FIV (เอดส์แมว)

37411 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น้อง เหลือง อายุ 10 ปี พันธุ์ ไทย FIV (เอดส์แมว)

สัตว์เลี้ยง ชื่อ น้องเหลือง อายุ 10 ปี พันธุ์ ไทย

ประวัติ

โดนแมวอีกตัวที่บ้านกัดเป็นแผลบริเวณเปลือกตาบน บวม มีเลือดไหล และมีแผลใต้คอ และรอยข่วนหลายรอย แมวตัวผู้ ทำหมันแล้ว เคยมีประวัติชอบโดนแมวตัวอื่นกัดบ่อยๆ

ผลการวินิจฉัย

แมวมีอาการปกติ ไม่ซึม เจ้าของแจ้งว่าทานอาหารได้ ขับถ่ายปกติ หลังจากโกนขนพบว่ามีรอยถลอก รอยข่วนหลายรอย และบริเวณเปลือกตาบนด้านซ้ายมีรอยเขี้ยว มีเลือดไหลซึมออกมาตลอด และเยื่อตาขาวบวม ช้ำ และเป็นห้อเลือด(hematoma)บริเวณใต้เปลือกตาบน แผลที่บริเวณใต้คางมีเลือดไหล  แผลที่โดนกัดเป็นแผลสดเพิ่งโดนกัดมา
สัตว์แพทย์ทำการตรวจตา ย้อมสีที่กระจกตาเพื่อเช็คว่ามีแผลที่กระจกตาหรือเปล่า ผลการวินิจฉัยไม่พบรอยแผลที่กระจกตาทั้งสองข้าง

การรักษา

ลักษณะแผลที่โดนกัดเป็นแผลสด เพิ่งโดนกัดมา สัตว์แพทย์พิจารณาเย็บแผล ก่อนการเย็บแผลสัตว์แพทย์ได้ทำการโกนขนและขัดรอบบริเวณปากแผลให้สะอาด และทำการflush ล้างภายในแผลโดยใข้น้ำเกลือจนสะอาด วางยาซึม เพื่อเย็บแผล เจาะเลือดเพื่อเช็คสุขภาพ ภาวะการติดเชื้อและ เช็คโรคไวรัสลิวคีเมียและเอดส์เเมว พบว่า FIV (เอดส์แมว) positive ซึ่งเป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว อาจทำให้ภูมิตก และแผลหายช้ากว่าปกติหรือแผลแตกได้

หลังการรักษา

            นัดทำแผลวันเว้นวัน และป้อนยาลดอักเสบและยาปฏิชีวนะทุกวัน และป้ายยา terramycin ที่ตาและแผลบริเวณใกล้ตา พบว่าแผลค่อนข้างแห้งดี และก้อน hematomaที่เปลือกตายุบลง ตัดไหมที่ 7วัน พบว่าแผลแห้งดี ปิดสนิทและไม่มีหนอง

เกร็ดความรู้จากคุณหมอ

            โรคเอดส์แมวนั้นเกิดจากเชื้อไวรัส Feline Immunodeficiency Virus (หรือเรียกย่อๆว่า FIV) เป็นไวรัสในตระกูลเดียวกับโรคลิวคีเมียติดต่อในแมว (Feline Leukemia Virus: FeLV) และเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกับไวรัสเอดส์ในคน (Human Immunodeficiency Virus: HIV)

การติดต่อของไวรัส FIV นั้นพบมากที่สุดว่าเกิดจากการกัดกันกับแมวที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ดังนั้นเราจึงมักเจอว่าน้องแมวที่ป่วยด้วยเชื้อ FIV นี้จะเจอในแมวเพศผู้มากกว่าเพศเมีย (เพราะเพศผู้มักจะมีพฤติกรรมกัดกันมากกว่าเพศเมีย) เจอในแมวที่ไม่ทำหมันมากกว่าแมวที่ทำหมัน (เพราะแมวที่ทำหมันจะมีความก้าวร้าวลดลง พฤติกรรมที่ชอบกัดกับแมวตัวอื่นก็จะลดลงไปด้วย) และพบในแมวที่เลี้ยงปล่อยนอกบ้านหรือมีแมวหลายตัวในบ้าน มากกว่าแมวที่เลี้ยงให้อยู่แต่ในบ้านตัวเดียว (เนื่องจากแมวที่เลี้ยงในบ้านตัวเดียว ไม่ได้ออกไปเจอแมวตัวอื่น ก็จะแทบไม่มีโอกาสกัดกับใคร โอกาสติดโรคนี้จึงน้อยลงมาก)

เมื่อน้องแมวติดไวรัสนี้มาแล้ว น้องแมวบางตัวจะไม่แสดงอาการผิดปกติให้เราเห็นเลยได้นานเป็นปีหรือหลายปี ซึ่งระยะเวลาที่แมวไม่แสดงอาการป่วยนี้จะนานมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับระดับภูมิคุ้มกันของแมวเอง ถ้าภูมิคุ้มกันของแมวยังมีมากพอที่จะต้านทานการติดเชื้อโรคแทรกซ้อนอื่นๆ แมวก็จะไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ภูมิคุ้มกันของแมวลดต่ำลงจนน้อยมาก แมวก็จะแสดงอาการป่วยจากการติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะจากเชื้อที่มีทั่วๆไปในสิ่งแวดล้อมซึ่งเชื้อเหล่านี้มักจะไม่ก่อโรคในแมวปกติ แต่จะมาก่อโรคในแมวที่ติดเชื้อ FIV ได้อย่างรุนแรง จนทำให้แมวสุขภาพทรุดโทรมและเสียชีวิตได้ในที่สุด

สพ  ญ ชนินันท์ สุทธิผล

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้