10495 จำนวนผู้เข้าชม |
ชื่อ: กีกี้ ชนิด: สุนัข อายุ: 7 ปี พันธุ์: Labrador Retriever
ประวัติและการรักษา
น้องกีกี้ มีปัญหาผิวหนังเป็นประจำ ตั้งแต่อายุ 1 ปี มีอาการคัน ขนร่วง มีการติดเชื้อแบคทีเรีย และยีสต์แทรกซ้อนอยู่เรื่อยๆ ต้องกินยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อราคุมการติดเชื้ออยู่เป็นประจำ แต่อาการคันก็ไม่เคยหายไป
การตรวจร่างกาย
พบขนหลุดร่วงเป็นวงกว้างโดยที่ใต้คอ เท้า ขาหนีบ ผิวหนังหนาตัวและเปลี่ยนสีเป็นสีดำ และล่าสุดเริ่มมีแผลที่เท้าทั้ง 4 ข้าง น้องแทะและเลียเท้าตลอด จนขนร่วง และมีลักษณะคล้ายฝีเกิดขึ้น นอกจากนี้รอบรูทวารก็มีขนร่วงเป็นวงกว้าง ในเบื้องต้นคุณหมอทำการตรวจผิวหนัง ไม่พบไรขี้เรื้อน แต่พบเชื้อแบคทีเรียเป็นจำนวนมาก
แนวทางการรักษาเบื้องต้น
คุณหมอ จึงทำการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ และกลุ่มยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคัน ร่วมกับการทำแผลโดยการระบายหนองออกจากก้อนฝีที่เท้า โดยให้น้องกีกี้ใส่ลำโพง ไว้ตลอดเวลาเพื่อกันไม่ให้แทะเลียเท้า
การติดตามอาการซ้ำและวินิจฉัยเพิ่มเติม
ผ่านไป 1 เดือน อาการไม่ดีขึ้น ยังคงคันมากเช่นเดิม คุณหมอสงสัยว่าน้องกีกี้น่าจะมีปัญหาผิวหนังบางอย่างโน้มนำทำให้น้องกีกี้ยังคงไม่หายจากอาการคัน คุณหมอจึงชี้แจงกับเจ้าว่าควรหาสาเหตุโน้มนำเหล่านั้นต่อ โดยพิจารณาตรวจผิวหนังขั้นต่อไปหลัก ๆ ของ 2 วิธีคือ ตรวจแยกระหว่างภูมิแพ้อาหารและสิ่งแวดล้อม
เจ้าของตัดสินใจตรวจเลือดเพื่อดูระดับภูมิคุ้มกันดูปัญหาภูมิแพ้สิ่งแวดล้อม และพร้อมกันนั้นตรวจวินิจฉัยเรื่องภูมิแพ้อาหารด้วยวิธีการทำ Food trial โดยให้ทานแต่อาหารรักษาโรคภูมิแพ้อาหารเท่านั้น สำหรับตรวจสอบภูมิแพ้อาหารเป็นเวลา 1 เดือน โดยหยุดยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ ยาแก้แพ้ต่างๆ คงเหลือแค่ยาบำรุงตับ และยาบำรุงขนเท่านั้น พบว่าภายใน 2 สัปดาห์หลังจากที่ปรับอาหาร อาการคันดีขึ้นมาก แผลที่เท้าเริ่มแห้ง และในระยะ 1 เดือน ขนกลับขึ้นมาเป็นปกติ จึงสรุปว่าน้องมีภาวะภูมิแพ้ต่อโปรตีนบางชนิดในอาหาร ซึ่งต้องทำการตรวจสอบต่อไปว่าแพ้โปรตีนจากสัตว์ชนิดใดบ้าง และผลตรวจภูมิแพ้ต่อสิ่งแวดล้อม พบภูมิคุ้มกันต่อไรฝุ่นขึ้นสูง เจ้าของจึงต้องรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยให้เรียบร้อยอยู่เสมอ
คำแนะนำเพิ่มเติม
อาการภูมิแพ้ผิวหนังที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมจะตอบสนองต่อการใช้ยาสเตียรอยด์ ช่วยลดการอักเสบและบรรเทา อาการคันให้ทุเลาลง แต่กลับมีผลข้างเคียงคือกระตุ้นการทำงานของตับอย่างหนักหน่วง หากใช้ติดต่อกันในขนาดที่สูง ทำให้การทำงานของตับรวมถึงฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกายแปรปรวนได้
สุนัขที่มีอาการคันอย่างต่อเนื่อง อาจมีสาเหตุได้ตั้งแต่ปรสิตภายนอก การติดเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์หรือเชื้อรา รวมไปถึงภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินต่ออาหาร และภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินต่อสิ่งแวดล้อมที่สรุปสาเหตุได้ค่อนข้างยากและใช้การตรวจขั้นสูงและใช้เวลาในการวินิจฉัยแยกหลายสัปดาห์ จึงควรหมั่นป้องกันปรสิตภายนอก ได้แก่ การอาบน้ำ ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำ หากสุนัขแสดงอาการควรคันพามาพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัย และตัดสาเหตุออกทีละประเด็น การรักษาโรคผิวหนัง อาศัยระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ดังนั้นเจ้าของต้องมีวินัยในการพามาพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงหากทำการตรวจสอบภูมิคุ้มกันไวเกินต่ออาหาร เจ้าของก็ต้องมีวินัยในการคุมการให้อาหารแก่สุนัขให้ได้ด้วยค่ะ