“ให้เลือดเท่ากับให้ชีวิต” ต่อชีวิตแมว Sky ด้วยการให้เลือด

23164 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“ให้เลือดเท่ากับให้ชีวิต” ต่อชีวิตแมว Sky ด้วยการให้เลือด

ประวัติและข้อมูลสัตว์ป่วย

แมวเพศเมีย ชื่อ Sky อายุ 10 ปี มีประวัติป่วยติดเชื้อไวรัส FELV หรือโรคไวรัสลิวคีเมีย อาการที่น้องมาวันนี้มาด้วยอาการฉุกเฉินด้วยอาการอ่อนแรง และหายใจหอบรุนแรง

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

ผลการตรวจร่างกายพบว่า Sky มีโดยพบว่ามีอาการหายใจหอบ นอนอ่อนแรง สีเหงือกขาวซีดเผือด แต่เสียงปอดยังปกติ หัวใจเต็นเร็วแต่แผ่วเบา สัตวแพทย์จึงรีบให้สารน้ำทางหลอดเลือดโดยด่วน และให้ออกซิเจนเพื่อช่วยให้ Sky หายใจได้สะดวกขึ้น จากนั้นจึงพิจารณาตรวจเลือดเนื่องจากสงสัยโรคทางระบบเลือดจากประวัติที่ป่วยด้วยโรคไวรัสลิวคีเมีย

การรักษา

ผลการตรวจเลือดพบว่า ค่าเม็ดเลือดแดง (PCV) ลดลงต่ำเหลือเพียง 9% เท่านั้น (จากปกติในแมวค่าเม็ดเลือดแดงไม่ควรต่ำกว่า 30%) ซึ่งเป็นภาวะที่จำเป็นต้องได้รับถ่ายเลือดโดยด่วน ซึ่งทางทีมงานของโรงพยาบาลได้ประกาศหาแมวที่แข็งแรงที่พร้อมให้เลือด เวลาไม่นาน มีเจ้าของใจบุญพาน้องแมวเข้ามาบริจาคเลือดและได้นำเลือดน้องแมวทั้งสองไปตรวจเพื่อดูความเข้ากันได้ของเลือด (Crossmatch) เดชะบุญของน้อง Sky ผลทดสอบปรากฏว่าผลเลือดเข้ากันได้ ทางทีมแพทย์จึงได้ทำการถ่ายเลือดเพื่อช่วยเหลือน้อง Sky ในทันที หลังจากการถ่ายเลือดในรอบแรก น้อง Sky มีอาการดีขึ้นเริ่มทานอาหารได้  ค่าเม็ดเลือดแดง(PCV) เพิ่มขึ้นมาจาก 9% เป็น 18% ตามที่ได้ประเมินเอาไว้ หากแต่ว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ จึงยังต้องมีการเฝ้าระวังค่าเลือดเม็ดเลือดแดงต่อเนื่อง

หลังการถ่ายเลือดรอบแรกไป 5 วัน ปรากฏว่าน้อง Sky เริ่มกลับมามีอาการคล้ายเดิมอีกครั้ง คือเริ่มมีภาวะซีด หอบ หายใจแรง และอ่อนแรง ซึ่งหลังจากการทำการตรวจเริ่มในรอบนี้พบว่าค่าเม็ดเลือดแดง ลดลงไปเหลือเพียง 8% ซึ่งบ่งบอกว่าร่างกายไม่สามารถสร้างเลือดเองได้และเริ่มมีการทำลายเม็ดเลือดที่เพิ่งได้รับมา จึงพิจารณาเริ่มการถ่ายเลือดอีกครั้งหนึ่ง         ในการตรวจความเข้ากันได้ของเลือดในรอบ 2 นี้ ต้องใช้ Donor (แมวผู้ให้เลือด) หลายตัว เพราะหลังการให้เลือดรอบแรก มักพบว่าร่างกายเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านเลือด ซึ่ง การตรวจรอบนี้ ได้ทำการตรวจความเข้ากันได้ของเลือด ไปทั้งสิ้น 3 ตัว ซึ่งได้ผลที่เข้ากันได้ในตัวที่ 3

หลังการถ่ายเลือดรอบ 2 นี้  Sky ก็เริ่มกลับมามีอาการที่ดีขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย การพยากรณ์โรคของน้อง Sky ในอนาคตมีแนวโน้มไม่ดีหากกลับมามีอาการแบบเดิมอีก


เกร็ดความรู้

            โรคติดเชื้อไวรัสลิวคีเมียสามารถทำการป้องกันได้โดยการเริ่มทำวัคซีนตั้งแต่อายุ 10 สัปดาห์ ซึ่งก่อนการทำวัคซีน ต้องทำการตรวจเลือดจากชุดตรวจโรคไวรัส เพื่อดูว่าน้องแมวมีเชื้อโรคไวรัสอยู่แล้วหรือไม่ เพราะถ้าหากมีการติดไวรัสชนิดนี้อยู่แล้วการทำวัคซีนก็ไม่สามารถป้องกันโรคได้ ทั้งนี้โรคนี้เป็นกลุ่มโรคติดเชื้อที่มีผลกดภูมิต้านทาน ซึ่งโดยปกติ อาจไม่ก่อโรคหรืออาการใด แต่เมื่อร่างกายมีสภาวะภูมิต้านทานตก โรคนี้จะแสดงอาการออกมาได้หลากหลาย เช่นภาวะโลหิตจาง หรือ ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำกว่าปกติ จากการที่เชื้อเข้าไปกดที่ส่วนของไขกระดูกที่เป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้าวต้น ทั้งนี้ ในทางสัตวแพทย์ยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัสลิวคีเมียโดยเฉพาะ แนวทางการรักษาเป็นการรักษาแบบประคองอาการขึ้นกับอาการที่เจอ หากเป็นอาการทางระบบเลือด การถ่ายเลือดสามารถช่วยเหลือชีวิตได้เป็นครั้งคราว หากแต่โรคไวรัสมีผลทำให้ร่างกายสัตว์ป่วยไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาใช้เองได้อย่างเพียงพอ การพยากรณ์โรคของแมวที่ติดเชื้อไวรัสจะแย่ตามลักษณะอาการที่เจอ รวมถึงระยะเวลาที่ป่วยมาก่อนหน้า

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้