62483 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อมูลสัตว์ป่วย
สุนัขชื่อ NANA พันธุ์ Chihuahua เพศเมีย อายุ 5 เดือน เคยทำวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม มีอาการซึม ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ประมาณ 2 วัน มีอาการอาเจียนหลังกินอาหาร ได้ตรวจชุดตรวจโรคไวรัสลำไส้อักเสบมาจากคลินิคแล้ว
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
สุนัขมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากอาการอาเจียนและถ่ายเหลวมา 2 วัน มีอาการไข้ขึ้นในขณะตรวจร่างกาย รวมถึงมีอาการปวดเกร็งช่องท้อง เมื่อคลำกดช่องท้องด้านหน้า
ผลการตรวจชุดทดสอบสำไส้อักเสบ ได้ผลบวกจากคลินิกก่อนหน้า แสดงผลว่า น้อง Nana มีการติดเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบชนิดรุนแรง นอกเหนือจากนี้มีการตรวจอุจจาระเพิ่มเติม พบมีแบคทีเรียแทรกซ้อนในอุจจาระเป็นปริมาณมากผลเลือดพบมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัส ไวรัสจะทำลายแหล่งสร้างเม็ดเลือดและระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้
การรักษา
โรคลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษาโดยตรง และเป็นโรคที่มีความรุนแรงในสุนัขเด็กและสุนัขที่ยังไม่ได้ทำวัคซีนอาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตค่อนข้างสูง การรักษาเป็นการรักษาประคับประคอง ตามอาการ
สำหรับ Nana มีภาวะขาดน้ำ มีไข้ และพบอาการอาเจียนในห้องตรวจ สัตวแพทย์จึงพิจารณารับเข้าอยู่ในหน่วยสัตว์ป่วยในที่แยกเป็นส่วนสัตว์ป่วยติดเชื้อรุนแรง โดยให้สารน้ำเข้าทางเส้นเลือด เพื่อแก้ภาวะการขาดน้ำ ยาฉีดลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ยาลดกรดเพื่อป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร มีการให้ยาปฏิชีวะนะเพื่อควบคุมภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนในทางเดินอาหาร รวมไปถึง วิตามินและสารอาหารพลังงานต่าง ๆ รวมทั้งยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว การรักษาใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับตัวสุนัขและความรุนแรงของโรคที่ได้รับ มีการตรวจเช็คเม็ดเลือดขาวซ้ำหลังจากฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว 3 วัน เพื่อประเมินการเสียชีวิตเนื่องจากเชื้อไวรัสจะทำลายเม็ดเลือดขาวค่อนข้างเร็วมาก ยิ่งสุนัขมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมากเท่าไหร่ โอกาสเสียชีวิตจะสูงตาม
การติดตามอาการซ้ำ
หลังการรักษา 2 วันแรก สุนัขถ่ายเหลวเป็นเลือดสด มีกลิ่นเหม็น และมีอาเจียนหลายครั้ง จึงงดอาหารเพื่อป้องกันการอาเจียน ในวันที่ 3 และ 4 ไม่พบอาการอาเจียนอีก จึงเริ่มให้อาหารอ่อน ๆ เพื่อให้สุนัขได้รับสารอาหารเพิ่ม นอกเหนือจากนี้เมื่อตรวจเลือดซ้ำพบว่าปริมาณเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นมาเป็นปกติ แต่ยังพบอาการถ่ายเหลวอยู่
สุนัขอยู่โรงพยาบาลนาน 7 วัน จนกระทั่งพิจารณาเปลี่ยนเป็นยากิน และให้เจ้าของรับกลับไปดูแลต่อที่บ้าน โดยยังคงต้องสังเกตลักษณะอุจจาระและการขับถ่ายต่อเนื่อง เมื่อหายจากโรคจึงนัดกลับมาทำวัคซีนใหม่ประมาณ 1-2 สัปดาห์
เกร็ดความรู้
วายร้ายไวรัส กำจัดได้ ป้องกันได้
1. สุนัขเด็กควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์สมวัย และได้รับการถ่ายพยาธิ เป็นประจำ หากเลี้ยงระบบเปิด หรือพาออกไปเที่ยวนอกบ้าน ควรมีการถ่ายพยาธิทุกเดือน หรือระบบปิด ควรถ่ายพยาธิทุก 3-6 เดือน
2. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงที่จะทำให้น้องหมาเครียด เช่น การเลี้ยงรวมกันจำนวนมาก การให้อาหารไม่เพียงพอ หรือเลี้ยงในที่ที่มีเสียงดัง เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงได้
3. ลูกสุนัขที่อยู่ในช่วงอายุที่ยังทำวัคซีนไม่ครบ ควรหลีกเลี่ยการพาสุนัขไปเล่นกับสุนัขที่ไม่ทราบประวัติการทำวัคซีน หรือแม้แต่ตัวเจ้าของก็ไม่ควรไปจับสัมผัสสุนัขตัวอื่นในช่วงนี้
4. หากมีรับสมาชิกสัตว์เลี้ยงเข้ามาใหม่ ควรแยกเลี้ยงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนนำมาเลี้ยงรวมกับน้องหมาตัวอื่นๆ เพื่อเป็นการกักโรคดูอาการหลังเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่
5. เมื่อพบว่าน้องหมาที่ป่วยต้องแยกเลี้ยงโดยทันที เพื่อง่ายต่อการดูแลและป้องกันการแพร่เชื้อ
6. กรณีที่มีสุนัขที่เคยป่วยด้วยโรคไวรัสแล้ว ต้องทำความสะอาดบริเวณพื้น กรง และอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยสารฟอกขาว (Sodium hypochlorite) โดยผสมอัตราส่วน สารฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำ 30 ส่วน (หรือสารฟอกขาว 4 ออนซ์ต่อน้ำ 1 แกลลอน) พ่นทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วจึงล้างออก แล้วนำภาชนะตากแดดฆ่าเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์
7. ทุกครั้งที่เจ้าของสัมผัสสัตว์ป่วยติดเชื้อ หรือสงสัยว่าจะมีเชื้อ ควรล้างมือ และทำความสะอาดเสื้อผ้า รองเท้าด้วย ทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่น
8. การดูแลสุนัขที่หายป่วยจากการติดเชื้อไวรัส ยังควรแยกเลี้ยงต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าสุนัขหยุดการขับเชื้อไวรัสออกจากร่างกายไปหมดแล้ว และก่อนนำมาเลี้ยงรวมกันควรต้องอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายป้องกันเชื้อที่ยังอยู่ตามขนและผิวหนัง
9. ควรฉีดวัคซีนให้ลูกสุนัข เริ่มตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์ แล้วให้กระตุ้นซ้ำอีก 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3-4 สัปดาห์ รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง จากนั้นให้กระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกๆ ปี ไม่แนะนำให้เริ่มวัคซีนเร็วเกินไปเพราะภูมิคุ้มกันของแม่จะทำลายประสิทธิภาพของวัคซีน ทำให้การทำวัคซีนในครั้งนั้นจะไม่ได้ผล และจะไม่สามารถกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ