เอ๊ะนี่มันตัวไรอ่ะ ???  เรื่องเล่าจากฮานอย

2555 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เอ๊ะนี่มันตัวไรอ่ะ ???  เรื่องเล่าจากฮานอย

ข้อมูลสัตว์ป่วย

LON เป็นสุนัขเพศเมีย พันธุ์ Bulldog อายุ 7 เดือน ประวัติทำวัคซีนครบตามโปรแกรมของ iVET สาขาฮานอย มีอาการขนร่วงเป็นจุด 2-3 ตำแหน่ง เช่น บริเวณขาหลังด้านซ้าย และลำตัว แต่ไม่มีอาการคัน มาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แต่อาการร่าเริงดี กินอาหารได้ดี ขับถ่ายปกติ ไม่มีอาการอาเจียน

การตรวจร่างกายและวินิจฉัย

จากการตรวจร่างกายพบว่าน้อง LON มาด้วยอาการขนร่วงแบบเป็นจุดๆ มี 2-3 ตำแหน่ง และมีลักษณะตุ่มหนองขึ้นปริมาณเล็กน้อย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 mm  ตรวจร่ายกายเบื้องต้นทั่วไปเป็นปกติ ไม่มีภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมหรือโต สัตวแพทย์จีงได้ทำการเก็บตัวอย่างผิวหนัง โดยการขูดตรวจผิวหนัง พบว่าน้อง LON มีปรสิตก่อโรคภายใต้รูขุมขนผิวหนัง เรียก ไรขี้เรือนเปียก คือ Demodex  ในสุนัข โดยน้อง LON พบตัวไรทุกระยะของวงชีวิตตั้งแต่ ไข่ ตัวอ่อน ตัวเต็มวัยที่พร้อมผสมพันธุ์

การรักษา

สัตวแพทย์ได้วางแนวทางการรักษาโดยให้ยาปฎิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง ควบคู่กับการใช้ผลิตภัณฑ์หยดกำจัดไรที่หลัง (spot-on) ทุกๆ 3 สัปดาห์ และได้ให้ยากำจัดปรสิตเป็นยากิน โดยมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ยาวนานถึง 3 เดือน และในระหว่างนี้จะมีการติดตามผลการใช้ยา ทุกๆ 1 เดือน โดยจะนัดมาทำการขูดตรวจผิวหนังซ้ำเพื่อดูจำนวนตัวไร และรอยโรคทางผิวหนัง

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

โรคขี้เรื้อนเปียกหรือ demodicosis เกิดจากการเพิ่มจำนวนของไรชนิด Demodex canis ในสุนัข และ Demodex cati และ Demodex gatoi ในแมว ตามปกติแล้วไรเป็นสิ่งมีชีวิตอาศัยในรูขุมขน และต่อมไขมันเป็นปกติของผิวหนัง ทั้งในสุนัขและแมว โดยปกติแล้วโรค Demodicosis ไม่ได้ติดต่อผ่านทางการสัมผัส ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค เช่น ในลูกสุนัขมีที่พยาธิในลำไส้ หรือในสุนัขโตที่มีภาวะทางโภชนาการต่ำ เนื้องอก ภาวะภูมิกันถูกกดหรือลดต่ำลง ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น hyperthyroidism  หรือ ปัจจัยทางพันธุกรรมที่มักจะเกิดในลูกสุนัข และ ลูกสุนัขจะมีโอกาสเป็นมากขึ้นถ้าแม่สุนัขเป็นโรคนี้ โดยติดต่อจากแม่สุนัขไปยังลูกสุนัขในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งจะพบในลูกสุนัขช่วงอายุ 3-18 เดือน (juvenile demodicosis) เพราะฉะนั้นถ้าเจ้าของสุนัขท่านใดสังเกตเห็นสุนัขของท่านมีอาการคล้ายๆดังที่บอกกล่าวไปแล้วมีความรู้สึกกังวลว่าสัตว์เลี้ยงของท่านป่วยหรือเปล่า หรือว่ามีอาการอย่างอื่นก็สามารถนำมารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ หรือต้องการคำปรึกษาในด้านการดูแลสัตว์เลี้ยงของท่าน กับสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทได้ทุกสาขา เพราะจะมีสัตวแพทย์คอยให้คำแนะนำและวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยกับสัตว์เลี้ยงที่ท่านรัก


เรื่องและภาพโดย

สพญ. ปัทมา ดั่งธนกุล

สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้