การดูแลสุนัขในแต่ละช่วงวัย Total Life Span

18708 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดูแลสุนัขในแต่ละช่วงวัย Total Life Span

การดูแลสุนัขในแต่ละช่วงอายุ Total Life Span

ช่วงวัยแรกคลอดจนถึงอายุหนึ่ง ปี ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ของเจ้าตัวเล็กต้องให้เวลากับเค้ามากๆ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพัฒนาการทางร่างกายจวบจนไปถึงพฤติกรรมค่อนข้างเยอะ เปรียบเสมือนเด็กเล็กจนเข้าสู่ระยะวัยรุ่น โดยหลังจากที่คลอด เจ้าตัวเล็กจะใช้เวลาอยู่กับแม่สุนัข อายุสองสัปดาห์เริ่มลืมตา กินนมแม่จนถึงอายุหนึ่งเดือนที่ฟันเริ่มขึ้นก็สามารถกินอาหารอ่อนสำหรับลูกสุนัขได้ และหย่านมแม่ที่อายุสองเดือน ในระหว่างนี้สองเดือนนี้ เจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นกินนมอิ่มมั้ย ขับถ่ายกับปัสสาวะปกติมั้ย ท้องอืดหรือไม่ บริเวณที่อยู่หนาวไปหรือเปล่า เป็นต้น นอกจากนี้ ช่วงวัยอายุเดือนครึ่งถึงสามเดือน เจ้าของสามารถสอนให้เจ้าตัวเล็กเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการขับถ่ายและปัสสาวะให้เป็นที่ได้ ในช่วงแรกอาจยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากลูกสุนัขยังเด็ก ปัสสาวะบ่อย แต่ถ้าให้เริ่มฝึกทุกวัน ชื่นชมและให้รางวัลเล็กน้อยหากทำได้ จะทำให้ลูกสุนัขจดจำและเรียนรู้ได้ในที่สุด เมื่ออายุครบสองเดือน จะเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ลูกสุนัขได้ผ่านทางน้ำนมเริ่มลดลง และพร้อมที่จะรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อต่างๆ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาเจ้าตัวเล็กมาพบสัตวแพทย์เพื่อวางโปรแกรมการถ่ายพยาธิ ป้องกันเห็บหมัดและทำวัคซีน โดยวัคซีนในขวบปีแรกจะทำวัคซีนรวม 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 4 สัปดาห์ เริ่มที่อายุสองเดือน และวัคซีนพิษสุนัขบ้า 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 4 สัปดาห์เช่นกัน เริ่มที่อายุสามเดือน  สำหรับคุณพ่อคุณแม่บางท่านที่รับลูกสุนัขมาจากฟาร์ม ควรให้เจ้าตัวเล็กได้อยู่ที่บ้านและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ก่อนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จึงค่อยเริ่มการทำวัคซีนหรือนำมาตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เพื่อคัดกรองโรคก่อนรับเข้าบ้าน ในกรณีดังกล่าวมีความสำคัญมากสำหรับเจ้าของที่มีสุนัขเลี้ยงอยู่ที่บ้านก่อนแล้วเพื่อป้องกันการนำโรคติดเชื้อจากสุนัขภายนอกเข้ามาภายในบ้าน

สำหรับน้องสุนัขเพศเมียที่เจ้าของไม่ประสงค์ให้น้องมีลูก แนะนำให้ทำหมันเมื่ออายุประมาณ 6-8 เดือนหรือก่อนที่เค้าจะเป็นสัดครั้งแรก เพื่อลดโอกาสการเกิดเนื้องอกเต้านมเนื่องจากฮอร์โมนเมื่อสุนัขแก่ตัวลง สำหรับน้องสุนัขเพศผู้ก็สามารถทำหมันได้ที่อายุตั้งแต่หกเดือนเช่นกัน  โดยก่อนที่จะทำหมันต้องนำสุนัขเข้ามาตรวจร่างกายเบื้องต้น รวมถึงตรวจความสมบูรณ์ของค่าเม็ดเลือด ค่าบ่งชี้การทำงานของตับและไต เพื่อดูความพร้อมในการเข้ารับการผ่าตัดและวางยา   ในสุนัขเพศผู้ สัตวแพทย์จะตรวจเช็คก่อนว่าอัณฑะได้ลงอยู่ในถุงหุ้มอัณฑะครบทั้งสองข้างหรือไม่ หากพบภาวะอัณฑะไม่ลงถุงหรือที่เรียกว่า “ทองแดง” จะต้องดำเนินการตรวจเช็คต่อว่าอัณฑะอยู่ที่ตำแหน่งใด ส่วนมากอยู่บริเวณขาหนีบ มีบางครับพบว่าอัณฑะอยู่ในช่องท้องได้ สุนัขที่เป็นทองแดงจะมีความสมบูรณ์พันธุ์น้อยกว่าสุนัขปกติ และอัณฑะที่ไม่ลงถุงหุ้มอัณฑะสามารถเป็นต้นกำเนิดของเนื้องอกได้ในอนาคต

ช่วงวัยอายุหนึ่งถึงเจ็ดปี จัดว่าเป็นช่วงที่ทุกอย่างคงที่ อัตราการเจริญเติบโตคงที่เป็นสุนัขโตเต็มวัยแล้ว แต่ยังคงมีความซุกซนและอยากรู้อยากเห็นอยู่  สำหรับเจ้าของที่เป็นกังวลว่าสุนัขที่ทำหมันแล้วจะอ้วน ที่จริงแล้วการทำหมันไม่ได้ทำให้สุนัขอ้วนในทันที แต่การที่ฮอร์โมนในร่างกายลดลง จะทำให้สุนัขลดกิจกรรมของตัวเองและนอนมากขึ้น เมื่อสุนัขกินอาหารในปริมาณเท่าเดิม แต่เล่นน้อยลง นอนมากขึ้น จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้สุนัขตัวอวบอ้วนขึ้นนั่นเอง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เลือกสูตรอาหารตามช่วงวัยสำหรับสุนัขที่ทำหมันแล้ว พร้อมกับพาสุนัขทำกิจกรรม เช่นวิ่งออกกำลังกายเบาๆหรือว่ายน้ำ นอกจากจะทำให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย ส่วนน้องสุนัขที่ไม่ได้ทำหมัน และเจ้าของมีความประสงค์อยากให้สุนัขมีลูก ช่วงวัยที่เหมาะสมคืออายุหนึ่งปีขึ้นไป เนื่องจากมีความสมบูรณ์เพศและร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว โดยปกติสุนัขเพศเมียจะเป็นสัดพร้อมรับการผสมพันธุ์ทุกหกเดือน (ยกเว้นบางสายพันธุ์ที่เป็นสัดปีละครั้ง) แต่ไม่แนะนำให้สุนัขผสมพันธุ์เพื่อมีลูกติดกันทั้งสองรอบในหนึ่งปี ควรเป็นแค่ปีละครั้ง เพื่อสุขภาพที่ดีของแม่สุนัขและความสมบูรณ์ของลูกสุนัขด้วย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากเพิ่มโอกาสในการผสมติด สามารถเข้ามาปรึกษาสัตวแพทย์ตรวจเช็คสุขภาพของสุนัข ตรวจเช็คความปกติของระบบสืบพันธุ์ และตรวจฮอร์โมนเพื่อดูวันที่ไข่ตกได้

เมื่อผสมแล้ว หนึ่งเดือนหลังจากที่ผสมแนะนำให้เข้ามาอัลตราซาวด์ดูเด็กน้อยในท้องรวมถึงฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์จะทำการนัดอัลตราซาวด์เป็นระยะเพื่อกำหนดวันคลอด และเอกซเรย์ดูจำนวนลูกสุนัขและประเมินความเสี่ยงเรื่องภาวะคลอดยากให้ ภายหลังจากที่แม่สุนัขคลอดแล้ว และคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องการให้มีลูกอีก แนะนำให้ลูกสุนัขหย่านมก่อน อย่างน้อยสองเดือนหลังคลอดจึงค่อยมาตรวจเลือดตรวจสุขภาพเพื่อทำหมัน ในสุนัขเพศเมียที่ไม่ทำหมัน มีโอกาสสูงในการเกิดโรคทางระบบสืบพันธุ์ตามมาได้ ได้แก่ มดลูกอักเสบ ถุงน้ำหรือเนื้องอกที่รังไข่ เนื้องอกเต้านม เป็นต้น ส่วนในสุนัขเพศผู้ที่ไม่ทำหมัน มีโอกาสเกิดโรคทางระบบสืบพันธุ์เช่นกัน ได่แก่ โรคเนื้องอกของอัณฑะ โรคต่อมลูกหมากโต โรคถุงน้ำในต่อมลูกหมาก เป็นต้น ในช่วงวัยหนึ่งถึงเจ็ดปีนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาน้องๆมาเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์และกระตุ้นวัคซีนปีละครั้ง หากพบความผิดปกติจะได้สามารถป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงที

ช่วงวัยอายุเจ็ดปีถึงสิบเอ็ดปี สุนัขเริ่มเข้าสู่วัยชราแล้ว ควรได้รับการตรวจสุขภาพด้วยการตรวจร่างกายภายนอกทั่วไป และตรวจเลือดทุก 6 เดือน และตรวจอย่างละเอียดด้วยการเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ช่องท้อง ตรวจหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอัลตราซาวด์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินสถานะทางสุขภาพ เนื่องจากในวัยนี้จะเริ่มพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นตามความเสื่อมของอายุได้ โดยโรคที่พบบ่อยในสุนัขทุกสายพันธุ์ได้แก่ โรคตาแห้ง โรคเหงือกอักเสบจากหินปูน โรคความเสื่อมของตับ ไตและหัวใจ สำหรับสุนัขสายพันธุ์เล็ก มีโอกาสพบความผิดปกติทางระบบหัวใจ และข้อสะบ้าได้ง่าย สุนัขสายพันธุ์ใหญ่ มีโอกาสพบความผิดปกติทางระบบโครงสร้าง สันหลังและข้อสะโพก สุนัขพันธุ์หน้าสั้นมักพบความผิดปกติทางทางเดินหายใจ กล้ามเนื้อและหมอนรองกระดูก โดยในการตรวจร่างกายอย่างละเอียดจะทำให้สามารถลดความรุนแรงและชะลอภาวะโรคที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ สุนัขในวัยนี้ เจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการอยู่เป็นประจำ เช่น มีอาการเหนื่อยหอบง่ายขึ้น เลือกกินมากขึ้น มีภาวะลุกนั่งลำบาก ซึ่งเป็นอาการผิดปกติการเกิดโรคนขั้นต้น สุนัขในวัยสูงอายุนี้ยังสามารถทำกิจกรรมได้ แต่ควรเป็นกิจกรรมที่เบาลง ทั้งนี้ควรได้รับการตรวจและคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อน

ช่วงวัยอายุสิบเอ็ดปีขึ้นไป สุนัขเข้าสู่วัยชราอย่างเต็มตัว คุณพ่อคุณแม่ควรพาสุนัขมาตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ด้วยการตรวจร่างกายภายนอก ตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ช่องท้อง ตรวจหัวใจ ทุก 4 ถึง 6 เดือน หรือเมื่อพบความผิดปกติควรนำสุนัขเข้ารับการตรวจโดยสัตวแพทย์ในทันที สุนัขในวัยนี้ จะเริ่มมีกิจกรรมที่ลดลง นอนมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีเวลาดูแลอย่างใกล้ชิด สุนัขวัยนี้มักพบโรคที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุมากขึ้น หากตรวจแล้วพบความผิดปกติ สัตวแพทย์จะมีการปรับอาหารให้เหมาะสม ให้ยารักษา รวมทั้งนัดติดตามอาการเป็นระยะ โรคที่พบบ่อยในวัยนี้ ได้แก่ โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคตับ โรคไต โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม โรคข้อกระดูกเสื่อม โรคเลนส์ตาและจอประสาทตาเสื่อม โรคผิวหนัง โรคเนื้องอก รวมถึงโรคความจำเสื่อมในสุนัขที่อายุเยอะมาก เนื่องจากค่าเฉลี่ยอายุในสุนัขอยู่ที่ประมาณ 13 ปี ดังนั้นสุนัขที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคได้เร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นและอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ได้นานยิ่งขึ้น การดูแลสุนัขที่อายุเยอะมากและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สิ่งที่ต้องระวังคือภาวะแผลกดทับที่เกิดจากการนอนติดเตียงเป็นเวลานาน หรือโรคผิวหนังที่เกิดจากการเปื้อนปัสสาวะและขับถ่าย คุณพ่อคุณแม่ต้องเอาใจใส่สุนัขเป็นพิเศษ คอยพลิกตัว ทำความสะอาดร่างกาย ป้อนน้ำและอาหารให้อย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถขอคำแนะนำและฝึกปฏิบัติในการดูแลสุนัขชราได้จากสัตวแพทย์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้