น้องถั่วเค็ม ดวงแข็ง โดยสุนัขรุมกัดมารีบมาโรงพยาบาล บาดแผลเต็มตัว

18438 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น้องถั่วเค็ม ดวงแข็ง โดยสุนัขรุมกัดมารีบมาโรงพยาบาล บาดแผลเต็มตัว


 

ประวัติ

           น้องแมวชื่อ ถั่วเค็ม พันธุ์ไทย อายุ 4 เดือน เพศเมีย พามาโรงพยาบาลด้วยอาการ เจ้าของพบว่าน้องถั่วเค็มโดนสุนัขในหมู่บ้านรุมกัดมา ซึ่งน่าจะโดนกัดตั้งแต่บ่ายแล้ว มีบาดแผลทั่วตัวหลายตำแหน่ง แต่เป็นแผลที่มีรูขนาดเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก แต่ที่น่ากลัวคือ มีรอยช้ำขนาดใหญ่ทั่วทั้งตัวเลย จะขนาดใหญ่มากบริเวณท้อง ซึ่งเจ้าของแจ้งว่าไม่อยู่ตอนแมวโดนกัด มาเจอน้องมีแผล ก็รีบพามาโรงพยาบาลทันทีเลย น้องถั่วเค็มยังสามารถเดินได้ ขับถ่ายปกติ แต่จะดูเจ็บๆ และดูอ่อนแรงมาก

 

การตรวจร่างกาย

จากการตรวจร่างกายพบว่าน้องถั่วเค็มยังเดินได้ปกติ แต่อ่อนแรง และค่อนข้างปวดแผลมากๆ น้องถั่วเค็มมีแผลโดนกัดขนาดหลายตำแหน่ง แต่แผลเป็นรูไม่ใหญ่มาก และมีเลือดออกตลอด โดยแผลที่เป็นรูมีอยู่ทางลำตัวด้านซ้ายเยอะ ซึ่งแผลมีขนาดไม่ใหญ่มาก และแผลรอบๆค่อนข้างช้ำ เบื้องต้นคุณหมอได้ทำการตรวจดูแผล พบว่าแผลที่โดนกัดท้างด้านซ้ายของลำตัวไม่มีทะลุถึงช่องอกหรือช่องท้อง และไม่มีอวัยวะสำคัญทะลุออกมาภายนอกร่างกาย แต่แผลค่อนข้างมีเลือดไหลออกมาเยอะ และมีคราบขนสกปรกอยู่ ส่วนที่ท้องไม่พบว่ามีแผล แต่มีรอยช้ำขนาดใหญ่มากๆ และ บริเวณด้านล่างของท้องพบว่าน้องถั่วเค็ม มีผนังช่องท้องทะลุ  แต่ผิวหลังไม่ได้เปิดออกมาจึงเห็นเป็นอวัยวะภายในโป่งอยู่ที่ผิวหนัง หลังจากนั้นได้ทำการสวนปัสสาวะน้องแมว พบว่าน้องยังสามารถปัสสาวะได้ปกติ  ไม่มีเลือดปน เมื่อทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นเสร็จแล้ว คุณหมอได้นำน้องแมวไปทำการเอ็กซเรย์ต่อ พบว่าอวัยวะภายในเหมือนจะมีเลือดออก และผนังช่องท้องท้างด้านล่างมีกล้ามเนื้อฉีกขาดทะลุ ทำให้มีอวัยวะซึ่งเป็นส่วนของลำไส้ และไขมันออกมาอยู่ที่ชั้นผิวหนัง แต่โชคดีที่ไม่ทะลุออกมานอกลำตัว และไม่พบว่ามีกระดูกหัก และตรวจเลือดเพิ่มเติมเพราะน้องแมวเสียเลือดเยอะ ก็พบว่าผลเลือดมีภาวะเลือดจางลงมากกว่าปกติ ซึ่งน่าจะมีเลือดออกภายในช่องท้อง

การรักษา

 

หลังจากการตรวจร่างกาย และพบว่าน้องถั่วเค็มมีการเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้จากเหงือกที่ซีดลง และรอยช้ำที่เกิดขึ้นหลายตำแหน่งบนตัว การรักษาที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆคือ การให้มีการให้สารน้ำ ซึ่งจะเป็นปัญหาหลักที่อาจจะทำให้น้องแมวเกิดการเสียชีวิตตามมาได้ หลังจากนั้นได้มีการทำแผลเบื้องต้น เพื่อเป็นการห้ามเลือดและเพื่อเอาสิ่งสกปรกออกจากแผลให้ได้มากที่สุด เสร็จแล้วมีการให้ยาห้ามเลือด ยาลดปวด ลดอักเสบ และยาปฏิชีวนะเป็นอันดับต่อไป ทำแผลเสร็จแล้วนำน้องถั่วเค็มเข้าพักในตู้อ็อกซิเจน เพื่อรอให้น้องแมวปรับสภาพร่างกายให้คงที่ และเพื่อทำการเตรียมตัวผ่าตัดในลำดับต่อไป


เมื่อน้องถั่วเค็มได้พักประมาณ 1 คืน อาการเริ่มคงที่ ดูมีแรงมากขึ้น แต่ตอนเช้าตรวจเลือดพบว่าเลือดจางลงกว่าเดิม ทำให้คุณหมอต้องตัดสินใจผ่าตัดน้องถั่วเค็มเร็วขึ้น เพราะสงสัยว่าอวัยวะภายในท้องที่ได้รับการกระทบกระเทือน มีเลือดออกมากกว่าเดิม จึงนำน้องถั่วเค็มเข้าทำการผ่าตัดเปิดช่องท้องเพื่อห้ามภาวะเลือดออกภายใจ และเย็บแผลเป็นลำดับต่อไป ซึ่งแผลที่ทำการเย็บจะมี 2 ตำแหน่ง คือด้านซ้ายของลำตัวที่เป็นโดนกัดแผลเล็กๆ ทำการเปิดผ่าเป็นแผลเดียวกัน ซึ่งแผลตรงนี้ไม่ทะลุผนังช่องท้อง จึงทำการล้างทำความสะอาด และเย็บแผล ร่วมกับการใส่ท่อเพื่อระบายสารคัดหลั่งไว้อย่างน้อย 3- 5 วัน

ส่วนแผลที่ท้องซึ่งมีปัญหารอยช้ำขนาดใหญ่ และผนังช่องท้องทะลุนั้น ได้ทำการเปิดผ่าเข้าไปภายใน พบว่าอวัยวะภายในที่สำคัญๆ มีความเสียหายหลายจุด คือ  ม้ามฉีกขาด ไตท้างด้านซ้ายได้รับการกระแทกเสียหาย มีเลือดออก ลำไส้และเนื้อเยื่อใกล้เคียงรับความเสียหายมีเลือดออก การผ่าตัดได้ทำการเย็บห้ามเลือด มัดเส้นเลือดที่เสียหาย ตัดม้ามในส่วนที่เสียหายออก และใส่ฟองน้ำห้ามเลือดในบริเวณไตที่มีเลือดออก หลังจากห้ามเลือดได้หมดแล้ว ก็ทำการเย็บปิดแผล

การผ่าตัดผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจึงสำเร็จ หลังจากผ่าตัดไม่นาน น้องถั่วเค็มก็เริ่มฟื้นตัว และหลังจากการผ่าตัดน้องได้มีการพักฟื้นอยู่ในตู้อ็อกซิเจนประมาณ 2 วัน ก็ออกมาอยู่ในกรงพักสัตว์ได้ ซึ่งน้องถั่วเค็มได้พักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 7 วัน เพื่อทำการทำแผลและฉีดยา จนคุณหมอมั่นใจแล้วว่าน้องสามรถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้แล้ว คุณหมอจึงมีการจ่ายยาให้น้องไปรับประทาน และให้พักฟื้นที่บ้านต่อไป พร้อมกับนัดมาตรวจดูแผลที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

1.      เมื่อน้องแมวที่มีขนาดตัวเล็กๆโดนกัด หรืออุบัติเหตุมา แม้จะมองเห็นเป็นเพียงแผลเพียงเล็กน้อยภายนอกเท่านั้น ก็ควรนำมาพบคุณหมอที่โรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจรักษาทันที เพราะแผลภายนอกที่ดูเล็กๆ แต่อาจจะมีความเสียหายของอวัยวะภายในได้ ซึ่งถ้ามาช้าอาจจะส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้

2.      เจ้าของควรดูแลน้องแมวที่ยังเด็กอย่างใกล้ชิด ควรเลี้ยงในบ้าน หรือมีกรงกักบริเวณ เพราะน้องแมวเล็กๆจะค่อนข้างซนมากๆ ซึ่งอาจจะกระโดดไปมา ตกลงไปข้างบ้าน หรือนอกบ้าน ทำให้โดนกัด จากสุนัขที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้

3.      ไม่ควรปล่อยน้องแมวที่ท่านเลี้ยงออกมาวิ่งเล่นภายนอกรั้วบ้านโดยไม่มีเจ้าของออกมาด้วย เพราะจะทำให้เสี่ยงที่จะโดนสุนัขด้านนอกรุมกัด หรือเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุตามมาได้

4.      เมื่อพบน้องแมวของท่านมีบาดแผลจากการโดนกัด ควรรีบนำมาส่งที่โรงพยาบาลทันที เพราะถ้าทิ้งไว้นานน้องแมวอาจจะเกิดการเสียชีวิตจากการเสียเลือดมากๆได้ และนอกจากนี้แผลที่เกิดจากการโดนกัดจะจัดเป็นแผลที่ค่อนข้างสกปรก ถ้าทิ้งไว้นานเกินไปนอกจากจะไม่สามารถเย็บแผลได้แล้ว เพราะจากแผลไม่สด ไม่มีเลือดมาเลี้ยง อาจจะทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้



การดูแลน้องแมวหลังการผ่าตัด

           1.  เจ้าของควรทำการดูแลน้องแมวอย่างใกล้ชิด ต้องมีการจำกัดบริเวณ ห้ามกระโดดหรือวิ่งเล่นมากเกินไป เพราะจะกระทบกระเทือนแผลได้

           2. จะต้องใส่ Elizabeth Collar และเสื้อผ่าตัดตลอดเวลา เพื่อป้องกันน้องแมวเลียแผล ซึ่งจะส่งผลทำให้แผลสกปรก และมีการติดเชื้อตามมาได้

           3. ป้อนยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้แผลหายเร็วแล้ว ยังป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้

           4. พาน้องแมวมาพบคุณหมอตามนัดสม่ำเสมอ คุณหมอจะได้ประเมินการรักษาได้อย่างถูกต้อง เท่านี้แผลก็จะหายเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้