Mammary gland tumor หรือ เนื้องอกเต้านม

13915 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Mammary gland tumor หรือ เนื้องอกเต้านม

Mammary gland tumor หรือ เนื้องอกเต้านม



เนื้องอกเต้านมเป็นปัญหาสำคัญในสุนัข ซึ่งจัดปัญหาเกี่ยวกับโรคในระบบสืบพันธุ์ พบได้ทั้งในสุนัขเพศผู้และเพศเมีย โดยทั่วไปมักพบในสุนัขเพศเมียมากกว่าสุนัขเพศผู้ และพบมากในสุนัขที่มีอายุอยู่ในช่วง 10-11 ปี โดยลักษณะของเนื้องอกมีหลายลักษณะทั้งแบบที่เป็นเนื้องอกขนาดเล็กไปจนถึงมะเร็งเต้านมที่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่น โดยตำแหน่งที่มักพบการเกิดเนื้องอกได้มากคือ เต้านมคู่ที่ 4 และ 5 โดยก้อนเนื้อที่พบว่ามีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งมักจะมีลักษณะไม่เป็นรูปร่างชัดเจน เป็นก้อนแข็งและมีการยึดติดกับเนื้อเยื่อโดยรอบ มีแผลหลุม มีเลือดออก รวมไปถึงมีการอักเสบร่วมด้วย ซึ่ง50%ของการพบเนื้องอกชนิดนี้มักเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง อีก 50% ที่เหลือจะเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดา ในกรณีที่เป็นมะเร็งมักจะมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ตามระบบทางเดินน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้องกับเต้านม  หรือกระจายไปที่ปอดซึ่งเป็นการแพร่กระจายผ่านระบบเลือด ระบบประสาท เป็นต้น



สาเหตุของการเกิดเนื้องอกเต้านมในสุนัขยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมน estrogen และ progesterone

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำให้เกิดเนื้องอกเต้านมในสุนัข
- ผลจากฮอร์โมนเพศ ในสุนัขเพศเมียที่ยังไม่ทำหมัน มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องงอกชนิดนี้ได้มากถึง 7 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขที่ทำหมันแล้ว
- อายุของสุนัขเพศเมียเมื่อตอนทำหมัน : การทำหมันให้กับสุนัขในขณะที่ยังอายุน้อย ก่อนที่จะเป็นสัดครั้งแรก ทำให้ลูกสุนัขกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมต่ำมากเกือบเท่ากับ 0% เรายังพบว่าในกรณีสุนัขที่ทำหมันหลังจากที่เป็นสัดไปแล้ว 1 ครั้งนั้น โอกาสหรือความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นเป็น 7% และหากทำหมันเมื่อสุนัขมีอายุมากแล้ว ผลจากการทำหมันอาจไม่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้
- การได้รับprogesterone หรืออนุพันธ์ เช่น ยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน

การตรวจเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการเอ็กซ์เรย์ช่องอก ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจต่อมน้ำเหลือง สามารถตรวจพบได้จากการคลำขนาดของเนื้องอกและเต้านม ซึ่งอัตราการเจริญของก้อนเนื้อนั้นแตกต่างกันไปตามชนิดของเนื้องอกและระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ

การวินิจฉัยทำได้โดยการเก็บตัวอย่างเซลล์หรือชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ และต่อมน้ำเหลือง เพื่อนำไปตรวจทางจุลพยาธิวิทยาเพื่อแยกชนิดของเนื้องอก

การรักษาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้องอก ซึ่งอาจทำร่วมกับเคมีบำบัด หรือฉายแสงได้ การพยากรณ์โรคถือว่าดีมีโอกาสหายโดยเฉพาะเนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็ง หรือในกรณีที่ผลเนื้องอกที่ได้เป็นมะเร็งแต่มีขนาดเล็กกว่า 5 เซนติเมตร ถ้าสามารถตัดออกได้หมด การพยากรณ์โรคก็ถือว่าดี

การป้องกัน เป็นวิธีที่เจ้าของสุนัขสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นเนื้องอกชนิดนี้ได้โดยการทำหมันสุนัขเพศเมีย โดยเฉพาะการทำหมันก่อนการเป็นสัตว์ครั้งแรก จะช่วยโอกาสเกิดเนื้องอกชนิดนี้จะมีเพียง 0.5% ถ้าไม่ได้ทำหมันสุนัขก่อนการเป็นสัตว์ครั้งแรก ยังสามารถทำหมันช้าที่สุดคือหลังการเป็นสัตว์ครั้งที่ 2 แต่ก่อนอายุ 2.5 ปี โดยการทำหมัน หลังการเป็นสัตว์ครั้งที่ 2 นั้นมีโอกาสเกิดโรคเพียง 26% เเต่ถ้าหากทำหมันหลัง 2.5 ปี จะไม่มีผลการลดอุบัติการณ์การเกิดโรคเลย

บทความโดย

สพ.ญ.ปรวิศา ทองเต็ม

สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทสาขาพระราม 9

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้