ภาวะแพ้น้ำลายหมัด

24126 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะแพ้น้ำลายหมัด

การแพ้น้ำลายหมัด

เมื่อหมัดโตเต็มที่จะดูดเลือดสัตว์เลี้ยง ในน้ำลายหมัดมีส่วนประกอบหลายอย่าง ซึ่งในส่วนประกอบของน้ำลายหมัดนี้เองที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการแพ้และอักเสบ สัตว์เลี้ยงจะแสดงอาการคัน ตุ่มแดง ขนร่วง โดยเจ้าของอาจไม่เจอหมัดบนตัวสัตว์เลี้ยงก็ตาม สามารถวินิจฉัยได้จากอาการทางคลินิก (วิการ ตำแหน่งที่เกิดวิการและขี้หมัด) โอกาสที่สัมผัสกับหมัด เช่น มีแมวอยู่บ้านร่วมกับสุนัข มีแมวจรอยู่บริเวณบ้าน และการตอบสนองต่อการป้องกันและกำจัดหมัด (ดีขึ้นหลังให้ยากำจัดหมัด)

การรักษา ทำโดยให้ยาแก้แพ้ ยาลดคัน ยาลดอักเสบ ร่วมกับยาปฏิชีวนะหากพบว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ที่สำคัญ ต้องมีการกำจัดหมัดร่วมด้วย เพื่อขจัดต้นเหตุของปัญหา

การป้องกัน มีหลากหลายวิธี  วิธีแรกใช้ผลิตภัณฑ์ยาหยอดหลังหรือยากินที่มีประสิทธิภาพในการจัดการหมัด โดยที่ผลิตภัณฑ์ทั้งสองรูปแบบต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แบบใดแบบหนึ่ง ออกฤทธิ์ด้วยการที่เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับเข้าไปแล้วตัวยาจะอยู่ในเลือด เมื่อหมัดมาดูดกินเลือดจะได้รับกำจัดเข้าไปและแห้งตาย  ส่วนใหญ่หมัดจะเริ่มตายภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังให้ยา ยาคงอยู่ในกระแสเลือดได้นานเป็นเดือน ขึ้นกับชนิดผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ยาหยดหลังและยากินไม่มีฤทธิ์ไล่แมลง (repellent) ไม่ป้องกันการเกาะของเห็บ หมัด วิธีที่สองสเปรย์กำจัดเห็บ หมัด มีฤทธิ์ทำให้เห็บ หมัดเป็นอัมพาต อาจมีฤทธิ์ไล่แมลงด้วยแล้วแต่สารออกฤทธิ์ สเปรย์ออกฤทธิ์ทันทีที่พ่นสัมผัสตัวหมัด แต่ฤทธิ์ไม่คงทน ต้องพ่นบ่อย กลิ่นรุนแรง (คนเมากลิ่นแทน) สเปรย์บางชนิดพ่นได้ทั้งตัวสัตว์และสิ่งแวดล้อม หากนำมาพ่นในสิ่งแวดล้อมจะช่วยกำจัดหมัดที่หลบอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ แต่ไม่มีสเปรย์ตัวไหนที่สามารถกำจัดหมัดในระยะดักแด้ได้ เมื่อดักแด้เจริญจนพัฒนาจนเป็นตัวเต็มวัยก็จะออกมาก่อปัญหาได้ต่อ  วิธีอื่นๆคือใช้แชมพูกำจัดเห็บ หมัด ไม่แนะนำหากจะใช้เป็นวิธีหลัก  เพราะวงจรชีวิตหมัดไม่ค่อยอยู่บนตัวสัตว์ตลอดเวลา การอาบด้วยแชมพูช่วยลดปริมาณได้แค่บางส่วน หมัดและทายาทของหมัดจำนวนมากในสิ่งแวดล้อมไม่ถูกกำจัดออกไปด้วย วงจรจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

การป้องกันหมัดควรทำเป็นประจำ ในสัตว์เลี้ยงที่เคยมีปัญหาแพ้น้ำลายหมัดและรักษาหายแล้ว เมื่อเจอน้ำลายหมัดซ้ำ อาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น ในสัตว์เลี้ยงที่มีหมัดแต่ยังไม่แสดงอาการแพ้ ก็อย่าได้วางใจ เพราะทุกครั้งที่หมัดกัดจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันสัตว์เลี้ยง อาจเกิดปัญหาแพ้น้ำลายหมัดในอนาคตได้ นอกจากหมัดจะทำให้เกิดภาวะแพ้น้ำลายหมัดแล้ว หมัดยังเป็นพาหะนำโรคพยาธิตัวตืดในสัตว์เลี้ยงอีก หากไม่รู้จะเลือกป้องกันด้วยวิธีไหนหรือผลิตภัณฑ์ใด สามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงของท่านได้


สพ.ญ. เบญจมาภรณ์  โชติรัตนะศิริ

สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังประจำโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้