7123 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อน้องหมาอายุเยอะเป็นลม !!
ถิงถิง สุนัขพันธุ์ชิวาว่า อายุ 7 ปี เพศเมีย ยังไม่ได้ทำหมัน เจ้าของพาน้องเข้ามาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทเนื่องจากพบว่าน้องตัวเกร็งหมดสติไป จากการตรวจร่างกายพบว่า ถิงถิงยังเริ่มมีสติรู้ตัวแล้วแต่หายใจลำบาก เสียงหัวใจผิดปกติ โดยพบเสียงหัวใจมีเสียงฟู่จากการฟังด้วยหูฟังแพทย์ ซึ่งเป็นลักษณะความผิดปกติของลิ้นหัวใจรั่ว ร่วมกับเสียงปอดที่ดังผิดปกติ หายใจเร็ว หอบ เมื่อสอบถามประวัติเพิ่มเติมพบว่าก่อนหน้าน้องมีอาการไออยู่เรื่อยๆ มีภาวะเหนื่อยง่ายบ้าง สัตวแพทย์สันนิษฐานเบื้องต้นจากอาการและการตรวจร่างกายว่าน้องถิงถิงมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมกับน้ำท่วมปอด
สัตวแพทย์ได้ทำการรักษาภาวะฉุกเฉินเบื้องต้นโดยการให้ออกซิเจน เปิดเส้นให้น้ำเกลือแก้ไขภาวะช็อค ให้ยาขับปัสสาวะเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อให้น้ำส่วนเกินในปอดขับออกทางปัสสาวะ เมื่อน้องถิงถิงมีอาการดีขึ้นจากเดิมแล้ว จึงทำการ x-ray เพิ่มเติม พบว่าหัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ปอดมีลักษณะที่ขาวขึ้นโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ใกล้ๆหัวใจซึ่งบ่งชี้ว่ามีการอักเสบหรือน้ำเข้าไปสะสมในบริเวณนั้น หลังจากการให้ยาและอยู่ในตู้ออกซิเจนระยะหนึ่ง น้องถิงถิงมีการตอบสนองที่ดีขึ้น อัตราการหายใจลดลงกลับไปอยู่ในช่วงปกติ เสียงปอดเริ่มดีขึ้น น้องถิงถิงได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจโดยการอัลตราซาวด์หัวใจ (echocardiogram) ในเวลาต่อมา ซึ่งผลการตรวจยืนยันว่าน้องถิงถิงเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วอยู่ในระยะที่แสดงอาการ มีอาการหัวใจล้มเหลว ซึ่งไปเหนี่ยวนำทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด น้องถิงถิงแอดมิดเป็นสัตว์ป่วยวิกฤติที่อยู่ในตู้ออกซิเจนและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิดที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทจนสามารถคุมอาการปอดบวมน้ำได้ดีขึ้น น้องก็ได้กลับไปดูแลฟักฟิ้นและดูแลอาการป้อนยาต่อที่บ้าน โดยมีนัดเข้ามาตรวจเช็คอาการกับสัตวแพทย์เป็นระยะ
โรคลิ้นหัวใจรั่วเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัข โดยจะพบได้ประมาณ 75% ของโรคหัวใจทั้งหมดในสุนัข โดยส่วนใหญ่มักเจอในสุนัขพันธุ์เล็ก และยิ่งอายุมากยิ่งมีโอกาสเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่วได้สูง พบว่าในสุนัขที่อายุมากกว่า 13 ปีมีโอกาสมากกว่า 85% ที่จะเจอภาวะลิ้นหัวใจรั่ว การตรวจวินิจฉัยจะใช้ข้อมูลหลายๆอย่างประกอบกันทั้ง อาการทางคลินิก การฟังเสียงหัวใจ เสียงปอด การใช้ภาพถ่ายด้วยภาพเอ็กซเรย์ และการทำอัลตร้าซาวน์หัวใจ
ในสุนัขพันธุ์เล็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะอยู่ในระยะที่ยังไม่ได้แสดงอาการของหัวใจล้มเหลวก็เป็นได้ การตรวจวินิจฉัยจะทำให้สามารถติดตามอาการและการพัฒนาโรคหัวใจของน้องๆได้ หรือทำการรักษาเพื่อยืดระยะเวลาในการพัฒนาเข้าสู่ระยะที่แสดงอาการหัวใจล้มเหลวได้ หรือถ้ามีอาการแล้วจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที
น.สพ. ณัฐธีร์ ระพีร์ทวีโชติ
สัตวแพทเจ้าของไข้