“เห็บ”ภัยร้ายใกล้ตัว

3238 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“เห็บ”ภัยร้ายใกล้ตัว

สุนัขสามารถติดเห็บได้ง่าย ถ้าหากดูจากวงจรชีวิตของเห็บที่ผสมพันธุ์บนตัวสุนัข เวลาวางไข่เห็บจะต้องลงจากตัวสุนัขเพื่อวางไข่ตามซอกรอยแตกของพื้นผนังสนามหญ้าโดยเฉพาะในที่มืดและอากาศชื้นๆยิ่งโดยเฉพาะหน้าฝนแบบตอนนี้เห็บยิ่งชอบ เห็บจะใช้เวลา10-20วันในการฟักไข่และค่อยๆพัฒนาเป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัยที่จะมาดูดเลือดสุนัข นอกจากนี้เห็บยังเป็นพาหะนำโรคพยาธิเม็ดเลือดได้แก่ Ehrlichiosis, Babesiosis, Hepatozoonosis และ Anaplasmosis โดยวันนี้จะมาพูดถึงโรคเม็ดเลือดชนิด Ehrlichiosis ที่พบได้บ่อยในทางคลินิก 

Ehrlichiosis เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อริกเก็ตเซีย Ehrlichia canis มีพาหะของโรคคือเห็บ Brown dog tick สุนัขที่ติดโรคนี้มักมีอาการซึม ตัวร้อน มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีภาวะเลือดไหลออกง่ายอาจพบว่าสุนัขมีจุดเลือดออกตามตัวหรือมีเลือดกำเดาไหล นอกจากนี้สุนัขจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจางและโปรตีนในเลือดต่ำ สุนัขบางตัวพบภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองจากการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด ในกรณีที่รุนแรงสุนัขอาจมี ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด ตลอดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตับและไตวาย อันตรายถึงชีวิตได้ 

การติดเชื้อจะเริ่มจากการที่เห็บปล่อยน้ำลายที่มีเชื้อริกเก็ตเซีย Ehrlichia canis ตรงบริเวณที่ดูดเลือด เชื้อจะเข้าไปฟักตัว 8-20 วัน โดยเชื้อจะไปอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิด monocyte และเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อจะมาเกาะที่ผนังหลอดเลือดและกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดทำให้มีการใช้เกล็ดเลือดจำนวนมากเพื่อมาช่วยห้ามเลือดบริเวณผนังหลอดเลือดที่เกิดการอักเสบ 

การวินิจฉัยทำได้โดยใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป ซึ่งสามารถตรวจ Antibody ต่อเชื้อโรคนี้ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาโดย Antibody ต่อเชื้อนี้สามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานถึง 8 เดือนเลยทีเดียวถึงแม้ในตอนนั้นร่างกายจะมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อแล้วก็ตามหรืออาจใช้วิธี PCR ซึ่งจะมีความจำเพาะและแม่นยำกว่าการตรวจด้วยชุดตรวจสำเร็จรูป นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจการตัวปรสิตผ่านกล้องจุลทรรศน์จากการป้ายเลือดบนสไลด์และย้อมสี วิธีนี้มีความไวต่ำแต่มีความแม่นยำสูง


รักษาหายมั้ยคะ? 

เป็นโรคที่รักษาได้ค่ะ แต่ถ้าไม่รักษาสุนัขอาจเสียชีวิตจากภาวะโลหิตจางแล้วทำให้เม็ดเลือดแดงมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย  ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนานต้องกินยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเดือนถึงจะหาย แต่ทั้งนี้จะต้องมีการตรวจเลือดซ้ำเป็นระยะและติดตามอาการสุนัขในระหว่างการรักษา 


ถ้าหายแล้วเป็นอีกได้มั้ย?

 ได้ค่ะ แม้ว่าการติดเชื้อจะสร้างระดับภูมิคุ้มกันหรือ antibody ขึ้นมาในร่างกายแล้วก็ตาม แต่ยังสามารถติดซ้ำชนิดเดิมได้ 


แล้วจะป้องกันโรคนี้ได้ยังไงล่ะ? 

ป้องกันไม่ให้สุนัขมีเห็บ เพื่อลดโอกาสที่เห็บจะปล่อยเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายสุนัขค่ะ โดยการป้อนยาป้องกันเห็บหมัดหรือผลิตภัณฑ์ยาป้องกันเห็บหมัดชนิดหยดหลังเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ต้องหมั่นรักษาความสะอาดบ้านอย่าให้มีพื้นที่อับชื้นหรือชื้นแฉะเพราะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ดีของเห็บ


เรียบเรียงโดย สพ.ญ.ชนิกานต์ ลิ้มสงวน

สัตวแพทย์หน่วยอายุรกรรม

ที่มา: https://entnemdept.ufl.edu/creatures/urban/medical/brown_dog_tick.htm

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้