เมื่อบีเกิ้ลถูกงูเขียวหางไหม้กัดเข้าอย่างจัง....

30862 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อบีเกิ้ลถูกงูเขียวหางไหม้กัดเข้าอย่างจัง....

น้องลาเต้ เป็นสุนัขพันธ์บีเกิ้ล เพศเมีย อายุ 2 ปี เจ้าของพาน้องลาเต้ เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทช่วงกลางดึก เนื่องจากน้องลาเต้ถูกงูเขียวหางไหม้กัดบริเวณปลายใบหู และภายหลังจากที่โดนกัดน้องลาเต้ก็มีอาการซึมลงอย่างเห็นได้ชัด

        จากการตรวจร่างกายเบื้องต้น พบว่า น้องลาเต้มีอาการซึม อัตราสัญญาณชีพอยู่ในภาวะปกติ แต่อัตราการหายใจสูงกว่าปกติเล็กน้อย มีรอยเขี้ยวที่โดนงูกัดอยู่ที่ปลายใบหูด้านขวา โดยขณะที่มาถึงโรงพยาบาลเลือดได้หยุดไหลแล้ว เริ่มมีอาการบวมของหูข้างที่โดนกัด

         แนวทางในการรักษา สัตว์แพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการให้ออกซิเจน ให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ ให้ยาแก้แพ้ และเริ่มให้เซรุ่มงูเขียวหางไหม้เข้าทางหลอดเลือดดำ ทำการล้างบริเวณปากแผลด้วยน้ำเกลือปริมาณมากเพื่อเอาพิษที่อาจหลงเหลืออยู่ที่ปากแผลออกให้หมด นอกจากนี้ยังให้ยาลดปวดและยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากตำแหน่งรอยกัด เพียงไม่นานภายหลังจากการให้สารน้ำและเซรุ่มแล้ว น้องลาเต้ก็เริ่มมีอาการที่ดีขึ้นตามลำดับ และกลับมาร่าเริงเป็นปกติในช่วงเช้า

        ในกรณีของน้องลาเต้ เป็นความโชคดีที่เจ้าของเห็นเหตุการณ์ และโรงพยาบาลอยู่ไม่ไกลจากบ้าน จึงพาน้องลาเต้เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเจ้าของสามารถบอกชนิดงูได้อย่างแม่นยำ จึงสามารถเลือกใช้เซรุ่มที่เหมาะกับพิษงูได้อย่างถูกต้องทันท่วงที หลังจากที่ทำการรักษาแก้ไขภาวะวิกฤติให้กับน้องลาเต้แล้ว สัตวแพทย์แนะว่าควรทำการตรวจเลือด และติดตามอาการเรื่องแผลที่โดนกัดต่อ เนื่องจากพิษของงูเขียวหางไหม้ มีผลต่อระบบเลือดและสามารถทำให้เกิดภาวะการตายของเนื้อเยื่อรอบบาดแผลได้

คำแนะนำจากคุณหมอ

แนะนำให้เลี้ยงสุนัขในบริเวณที่มีความปลอดภัย หรือภายในบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางคืน เพราะถ้าเจ้าของไม่เห็น สัตว์เลี้ยงอาจได้รับพิษเป็นเวลานานเกินไป และสัตวแพทย์ไม่สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที อาจส่งผลทำให้สัตว์เลี้ยงมีอันตรายถึงชีวิตได้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัตว์เลี้ยงถูกแมลงสัตว์กัดต่อยที่เจ้าของทำได้เองที่บ้าน คือ การล้างด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างแผล หรือน้ำเปล่าที่สะอาด เพื่อเอาคราบสารพิษออกจากปากแผลให้ได้มากที่สุด งดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกสัตว์มีพิษกัดให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้สารพิษกระจายเข้าสู่ร่างกายเร็วเกินไป หลังจากนั้นควรรีบพาสัตว์มาพบกับสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด

หากสัตว์เลี้ยงโดนงูกัด สิ่งที่ช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จได้มากอย่างหนึ่งคือ เจ้าของสามารถบอกได้ว่าเป็นงูอะไร หรือนำสัตว์มีพิษชนิดนั้นมาให้ดูด้วย (อาจถ่ายรูปมาก็ได้ ไม่ต้องเอาตัวเป็น ๆ มาก็ได้ค่ะ)เนื่องจากงูแต่ละชนิดก็มีพิษที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งแนวทางในการรักษาแก้ไข เช่นให้เซรุ่มก็แตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของงูด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้