“เมื่อเบ็ดตกปลา กลายเป็นเบ็ดตำหมา จะช่วยเหลือเจ้าแต้มอย่างไรดี”

7735 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“เมื่อเบ็ดตกปลา กลายเป็นเบ็ดตำหมา จะช่วยเหลือเจ้าแต้มอย่างไรดี”

น้องแต้ม เป็นสุนัขพันธุ์ผสมเพศผู้ อายุ 2 เดือน เจ้าของพาน้องแต้มมา ที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทเนื่องจาก เห็นน้องแต้มกินเหยื่อที่มีเบ็ดตกปลาลงไป ซึ่งเจ้าของห้ามไม่ทัน ภายหลังจากที่กลืนทั้งเบ็ดและเหยื่อไปแล้วน้องแต้มก็มีอาการกระวนกระวาย พยายามสำรอก แต่ไม่มีอะไรออกมา

                จากการตรวจอาการเบื้องต้น พบว่า น้องแต้มยังคงร่าเริงอยู่ แต่เริ่มมีไข้ คลำจับบริเวณลำคอแล้วร้องเจ็บ สัตวแพทย์จึงนำน้องแต้มไปเอ็กซเรย์ เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม

เมื่อผลเอ็กสเรย์ออกมาดังนี้ คุณหมอจึงไม่รอช้า

                โดยผลการเอ็กซเรย์พบว่า มีเบ็ดอยู่บริเวณลำคอตำแหน่งคอหอย เป็นตำแหน่งที่ใกล้หลอดลมมาก มีโอกาสที่จะเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม หรือไปปักเข้าหลอดลม หรือทะลุหลอดอาหารได้ เมื่อเป็นภาวะเร่งด่วนนี้ สัตวแพทย์จึงให้ยาลดความเจ็บปวดและลดอักเสบ ให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ และยาสลบที่ออกฤทธ์ระยะสั้น  เมื่อน้องแต้มเริ่มสลบแล้วจึงทำการเปิดปาก พบเบ็ดและเอ็นตกปลาเกี่ยวเนื้อเยื่ออยู่บริเวณทางเข้าของหลอดอาหาร โดยเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวค่อนข้างแดงอักเสบ สัตวแพทย์ใช้อุปกรณ์กดลิ้นและคีบเบ็ดออกมา

                น้องแต้มฟื้นตัวจากยาสลบได้ดี แนวทางในการรักษาต่อ คือ ให้ยาลดการอักเสบ ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน และยาเคลือบทางเดินอาหาร

ขอแนะนำจากสัตวแพทย์

สุนัขเด็กจะมีพฤติกรรมชอบเลียและกัดแทะสิ่งของ เจ้าของพึงระวังและป้องกัน ไม่ควรให้ของเล่นหรือกระดูก เพราะสุนัขอาจกินเข้าไปแล้วก่อให้เกิดการอุดตันของทางเดินอาหารตามมาได้ กรณีที่เจ้าของตกปลาและพาสุนัขไปด้วยอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากสุนัขอาจไม่รู้ว่าคืออะไร เพียงแค่ต้องการที่จะกิน งับ เหยื่อเล่นเท่านั้น

หากพบว่าสุนัขอาการผิดปกติไป เช่น ซึม ปวดท้อง มีอาเจียน แต่ไม่เห็นการขับถ่าย สงสัยว่าจะกินสิ่งแปลกปลอม เครื่องมือที่จะวินิจฉัยการทานสิ่งของแปลกปลอมอย่างง่าย ๆ คือ การเอ็กสเรย์ โดยภาพเอ๊กเรย์ สามารถเห็นได้เฉพาะวัตถุที่ทึบรังสี หรือวัตถุที่มีความหนาแน่นสูง เช่น เหล็ก กระดูก เป็นต้น แต่สำหรับวัตถุอื่นที่ไม่มีการสะท้อนหรือทึบรังสี เช่น ผ้า เชือก ของเล่นยาง หรือแม้กระทั่งไม้ จะไม่สามารถเห็นได้ชัดจากการเอ็กซเรย์ จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่น ร่วมในการวินิจฉัย ได้แก่ การอัลตราซาวน์ การส่องกล้อง ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของสัตวแพทย์

ภาวะอุดตันของทางเดินอาหารเนื่องจากทานสิ่งแปลกปลอม ไม่ควรปล่อยไว้ข้ามวัน หรือหากพบเห็นให้ควรรีบพามาโรงพยาบาลโดยทันที ไม่ควรพยายามนำออกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะวัสดุแหลมคม หรือไม่ควรทำให้อาเจียน เช่นการกรอกไข่ หรือกรอกนม จะมีผลเสียมากกว่าที่จะช่วยเหลือสัตว์ค่ะ

เรื่องและภาพโดย

สพ.ญ. วรัญญา กิจสาสน

 (สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้