75056 จำนวนผู้เข้าชม |
“เลือดไหลจากอวัยวะเพศ ภัยร้ายจากเห็บ”
สุนัข ชื่อ โลมา พันธุ์ American Pitbull เพศเมีย อายุ 1 ปี เจ้าของเล่าว่า น้องโลมาได้รับการผสมมาประมาณ 1 เดือน สองวันนี้สังเกตพบมีอาการซึมลง ไม่ค่อยกินอาหาร และก่อนหน้าที่จะพามาโรงพยาบาล ก็เห็นว่ามีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด จากการซักประวัติเพิ่มเติม พบว่าน้องโลมามีเห็บเยอะ และไม่ได้ป้องกันเห็บหมัดอย่างสม่ำเสมอ
การตรวจร่างกายและการรักษา
จากการตรวจร่างกายเบื้องต้น น้องโลมาค่อนข้างซึม แต่ยังคงมีแรงอยู่เนื่องจากเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มีความอดทนสูง มีอาการปวดเกร็งช่องท้อง พบเลือดสดออกมาเป็นลิ่มๆจากช่องคลอด มีภาวะแห้งน้ำ นอกจากนี้ยังพบปื้นเลือดออกบริเวณผิวหนังใต้ท้องอีกด้วย สัตวแพทย์จึงทำการตรวจอย่างละเอียด ด้วยการเจาะตรวจเลือดและอัลตราซาวด์เพิ่มเติม โดยผลจากการอัลตราซาวด์ช่องท้องพบมีถุงหุ้มตัวอ่อนฝังอยู่ในมดลูกแต่ไม่พบการเคลื่อนไหวใดๆของตัวอ่อน สำหรับผลเลือดพบว่าน้องโลมามีค่าเกล็ดเลือดต่ำ และมีพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งจากการตรวจร่างกายและผลตรวจต่างๆจึงวินิจฉัยได้ว่า น้องโลมามีภาวะแท้งอันเนื่องมาจากการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด
การวางแผนการรักษา
สัตวแพทย์จึงให้น้องโลมาเข้าพักเป็นสัตว์ป่วยในที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ มีการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ ยาห้ามเลือด และยาลดปวด โดยที่การแท้งอันเกิดจากพยาธิเม็ดเลือด ที่เป็นสาเหตุทำให้ค่าเกล็ดเลือดต่ำ (ปกติแล้วเกล็ดเลือดทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวหรือหยุดภาวะเลือดออก) ทำให้น้องโลมามีเลือดขับออกมาทางช่องคลอดเป็นปริมาณมาก ในขณะที่การให้ยาห้ามเลือดสามารถควบคุมภาวะเลือดออกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นผลให้ค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่นของน้องโลมาลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงสั้นๆเพียงแค่ 1-2 วัน สัตวแพทย์จึงทำถ่ายเลือดแก้ไขภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดเยอะ และตัดสินใจรักษาชีวิตของน้องโลมาที่เกือบได้เป็นแม่สุนัขด้วยการผ่าตัดเอามดลูกออก ภายหลังการผ่าตัด น้องโลมาฟื้นตัวได้ดี อาการค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ ร่วมกับการได้รับยาฆ่าเชื้อสำหรับรักษาพยาธิเม็ดเลือดอย่างเหมาะสม จึงทำให้ค่าเลือดของน้องโลมา กลับมาอยู่ในระดับที่ปกติในระยะเวลา 2 สัปดาห์
เกร็ดความรู้
พยาธิเม็ดเลือดเป็นเชื้อที่ติดจากเห็บที่เป็นพาหะ หากสุนัขที่ถูกเห็บที่มีเชื้อ แม้เพียงตัวเดียวก็สามารถนำโรคมาให้สุนัขได้ ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของอาการโรคนั้นขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของสุนัขร่วมด้วย โดยอาการที่สามารถพบได้เมื่อสุนัขติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด นอกเหนือจากการซึม อ่อนแรงแล้ว สุนัขอาจมีไข้ มีภาวะเลือดออกง่ายเนื่องจากเกล็ดเลือดที่ทำหน้าที่ให้เลือดแข็งตัวมีอยู่ในปริมาณต่ำ เช่นมีเลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกตามตัว บางตัวที่เป็นรุนแรงอาจกระทบถึงอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต และสมองได้ วิธีการป้องกัน คือการกำจัดสาเหตุ ซึ่งก็คือ เห็บ ด้วยการกำจัดและทำความสะอาดออกจากสิ่งแวดล้อมที่สุนัขอาศัยอยู่ และหยดยาหรือฉีดยาป้องกันเห็บหมัดให้สุนัขเป็นประจำทุกเดือน
เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ. วรัญญา กิจสาสน
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา