น้องเลซ กินกระดูกแล้วกระดูกติดปาก เอาไม่ออก

2731 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น้องเลซ กินกระดูกแล้วกระดูกติดปาก เอาไม่ออก

น้องเลซ น้องสุนัขพันธ์แจ็ครัสเซลล์เทอร์เรีย เพศเมีย ยังไม่ได้ทำหมัน 

จากการซักประวัติพบว่า เจ้าของพาน้องมาเข้ารับการรักษาด้วยสาเหตุคือ กินกระดูกแล้วกระดูกติดปาก เอาไม่ออก เจ้าของแจ้งว่าปกติจะให้น้องเล่นกระดูกที่มีลักษณะกลวง แบบนี้อยู่แล้ว โดยจะให้เล่นเป็นของเล่น เป็นปกติ วันนี้ไม่รู้ว่าน้องแทะเล่นแบบไหน จึงทำให้กระดูเจ้าปัญหาไปค้างอยู่ที่ปากได้ เจ้าของพยายามจะเอาออกให้ที่บ้านแต่เอาออกเท่าไรก็ไม่ได้ จึงรีบพามาให้คุณหมอช่วย 

คุณหมอจึงได้ทำการตรวจร่างกายน้องเลซ จากนั้นจึงตัดสินใจว่าจะต้องทำการวางยาซึมให้น้องเลซก่อน แล้วจึงพิจารณาใช้เลื่อยตัดกระดูกที่ติดอยู่ที่ปากของน้องเลซออก เนื่องจากกระดูกที่ดูเป็นกลวงจะสามารถดึงออกได้นั้น แท้จริงแล้วดึงออกได้ลำบากเนื่องจากตัวกระดูกมีแกนขวาง และค้ำอยู่บริเวณเขี้ยวทั้ง2ข้างของน้องเลซ 



หลังจากใช้เลื่อยช่วยตัดกระดูกให้น้องเลซสำเร็จแล้ว ใช้เวลาไม่เกิน 45นาที น้องสามารถฟื้นตัวจากการวางยาซึมแล้วพบว่ากระดูกหลุดออกมาจากปากแล้ว  นอกจากนี้คุณหมอยังตรวจพบเหงือกและมุมปากบริเวณฟันเขี้ยวดูมีรอยแดงและอักเสบ อาจะเป็นเพราะโดนกระดูกรัดเข้าบริเวณดังกล่าว คุณหมอจึงได้จ่ายยาลดอักเสบ และยาพ่นช่วยลดการอักเสบบริเวณเหงือกให้กลับบ้านไป ทั้งกำชับเจ้าของว่างดให้กระดูกแบบนี้เป็นของเล่นอีก เพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตแบบกรณีดังกล่าว รวมถึงหากเป็นกระดูกที่น้องเลซสามารถแทะกินได้ ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้กระดูกนั้นไปทิ่มบริเวณทางเดินอาหารได้ค่ะ

เกล็ดความความรู้เพิ่มเติม 

การกินกระดูกมีผลอย่างไรกับสุนัขบ้าง
1. ฟันหัก – ยิ่งถ้าเป็นกระดูกชิ้นใหญ่และแข็ง อย่างกระดูกหมู ยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฟันแตกหักได้
2. การบาดเจ็บในช่องปากและลิ้น – เมื่อกระดูกแตกออกเป็นชิ้น บางชิ้นอาจมีลักษณะแหลมคม ทำให้เกิดแผลในปากหรือบนลิ้นได้
3. อุดหลอดอาหาร – อาการที่พบเช่น พยายามขาก ไอ อาเจียน มักพบหลังทานกระดูกเข้าไปทันที
4. อุดหลอดลม – เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกระดูกชิ้นเล็ก ถือเป็นภาวะฉุกเฉินเนื่องจากสามารถทำให้สุนัขเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้
5. ติดในกระเพาะอาหาร – หากกระดูกผ่านหลอดอาหารเข้าสู่กระเพาะมาได้ แต่ขนาดใหญ่เกินไปที่จะผ่านออกจากกระเพาะ จะทำให้เกิดการอุดตันได้
6. อุดตันในลำไส้ – ทำให้เกิดการอุดตัน ขัดขวางการย่อยและขับถ่าย ทำให้เกิดอาการท้องผูก หรืออาเจียน ภาวะนี้อาจต้องผ่าตัดเผื่อนำชิ้นกระดูกออก
7.  ท้องผูก – กระดูกที่กินเข้าไปอาจไปกองรวมกันกลายเป็นก้อน ทำให้เกิดอาการท้องผูกเนื่องจากเศษกระดูกไปอัดรวมกันเป็นก้อนขวางทางภายในลำไส้
8. เลือดออกในทางเดินอาหาร – เนื่องจากชิ้นส่วนกระดูกอาจมีความแหลมคม ซึ่งสามารถบาดทางเดินอาหาร เกิดเป็นแผล และมีเลือดไหลอย่างต่อเนื่องอยู่ภายในทางเดินอาหารได้ อาการที่พบได้เช่น อึเป็นเลือดสด หรืออึเหลวเป็นสีดำเข้มคล้ายน้ำมันดิน
9. ช่องท้องอักเสบ – เนื่องจากชิ้นส่วนกระดูกมีความแข็งและแหลมคม จึงอาจทะลุ กระเพาะ หรือลำไส้ จนทำให้เกิดภาวะช่องท้องอักเสบตามมา ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงและทำให้สุนัขเสียชีวิตได้

จากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวสุนัขเมื่อให้กระดูกกับสุนัข จึงไม่แนะนำอย่างยิ่งที่จะให้สุนัขกินกระดูก!!

เรียบเรียงโดย สพ.ญ.ปรวิศา ทองเต็ม (หมอปลา)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้