น้องจีจี้กับงูเห่าตัวร้าย

2821 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น้องจีจี้กับงูเห่าตัวร้าย

น้องจีจี้สุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ เพศเมีย อายุ 13 ปี เจ้าของพาน้องจีจี้มาโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทเนื่องจากอยู่ๆน้องจีจี้ก็มีอาการอ่อนแรง เจ้าของเล่าว่าเมื่อตอนเย็นได้ปล่อยให้น้องจีจี้ออกไปเดินเล่น ซึ่งบริเวณบ้านมีลักษณะเป็นบ้านสวน ประมาณครึ่งชั่วโมงน้องจีจี้ก็เดินกลับเข้าบ้านมาด้วยอาการล้ม หมดแรง ไม่สามารถเดินได้ โดยที่ก่อนหน้านี้ยังปกติทุกอย่าง


จึงรีบพาน้องจีจี้มาโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วภายในไม่เกินครึ่งชั่วโมงหลังจากเจอความผิดปกติ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลน้องจีจี้ดูค่อนข้างอ่อนแรงไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง หอบหายใจเร็ว ต้องอุ้มขึ้นโต๊ะตรวจ สัตวแพทย์ตรวจร่างกายน้องจีจี้เบื้องต้นพบแผล 2 รู คล้ายเขี้ยวสัตว์มีพิษบริเวณขาขวาหลังมีอาการบวมร้อนอักเสบแดง สัตวแพทย์ซักประวัติเจ้าของเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์มีพิษ ทำให้รู้ว่าหลายวันก่อนเจ้าของเคยเจองูเห่าบริเวณบ้าน ร่วมกับอาการอ่อนแรงเฉียบพลันของน้องจีจี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกงูเห่ากัดมา 

 



สัตวแพทย์รีบทำการรักษาด้วยการให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ ให้ยาแก้แพ้ และให้เซรุ่มงูเห่า อย่างเร่งด่วน เนื่องจากพิษงูเห่าทำให้เกิด อาการทางระบบประสาท ได้แก่ หนังตาตก กลืนลำบาก อัมพาต ซึ่งหากกะบังลมเกิดภาวะอัมพาตด้วยจะทำให้สุนัขหยุดหายใจได้ จากนั้นจึงทำแผลบริเวณที่ถูกกัดที่ขาหลังขวา ร่วมกับการให้ยาลดปวด ลดอักเสบ และยาฆ่าเชื้อ โดยที่แผลบริเวณที่โดนกัดนี้ มีโอกาสกลายเป็นเนื้อตายหรือติดเชื้อได้ สัตวแพทย์นำน้องจีจี้เข้าหน่วยสัตว์ป่วยวิกฤติและอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งภายหลังจากที่น้องจีจี้ได้เซรุ่มไป อาการก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เริ่มมีแรง และสามารถลุกเดินได้ด้วยตัวเอง หายใจได้ตามปกติ แผลที่โดนกัดอักเสบลดลงในวันต่อมา น้องจีจี้อยู่ดูอาการที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทจนอาการเป็นปกติ สัตวแพทย์จึงอนุญาตให้น้องจีจี้กลับบ้านและให้เจ้าของป้อนยาตามกำหนดอย่างเคร่งครัดและกลับมาติดตามอาการกับสัตวแพทย์จนกระทั่งแผลที่เท้าหายเป็นปกติในที่สุด

 

 


ข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติเมื่อสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงโดนสัตว์มีพิษกัด

ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ สำรวจบริเวณบาดแผล หากพบลักษณะของรอยเขี้ยว รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
หากไม่ทราบชนิดงูและมีซากงูให้ใส่ถุงพลาสติก หรือถ่ายรูป และนำมาให้สัตวแพทย์พิจารณา
อาการที่เกิดจากสัตว์มีพิษ มักพบอาการเฉียบพลัน หากพบความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ควรรอเวลานานจนเกินไป ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อดูอาการทันที หากมีอาการแพ้ หรือได้รับพิษปริมาณมาก มีโอกาสเสียชีวิตหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาไม่ทัน

สิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเมื่อสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงโดนสัตว์มีพิษกัด

1. ไม่ควรใช้ไฟจี้ หรือมีดกรีดบาดแผล เพราะจะทำให้สัตวแพทย์วินิจฉัยลำบากเวลาตรวจแผล

2. ไม่ควรใช้ปากดูดแผลเพราะนอกจากไม่ได้ผลแล้วยังจะทำให้ติดเชื้อได้

3. ไม่ควรใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เทลงบนบาดแผล ล้างด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาดก็เพียงพอ

4.ไม่ควรใช้เชือกรัดแน่นเหนือบาดแผลเพราะจะทำให้ส่วนที่อยู่ใต้เชือกขาดเลือดมาเลี้ยง จนเกิดเป็นเนื้อตายได้


สพ.ญ. ปนิษฐา รัตนศรีอำไพพงศ์

สัตวแพทย์อายุรกรรมทั่วไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้